fbpx
News update

กฏหมายคุม “เงินสกุลดิจิทัล”ประเทศไทยเริ่มแล้ว !

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ (13 มี.ค. 2561 )ในการกำกับดูแลและควบคุมการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี หรือการสร้างเงินสกุลดิจิทัลและการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัลที่เรียกว่า ไอซีโอ (Initial Coin Offering : ICO)

สำหรับร่างแรก คือ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล  กฎหมายที่กำหนดเรื่องการขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ เช่น ตัวแทน ดีลเลอร์ โบรกเกอร์ รวมถึงการยืนยันตัวตน (KYC) รวมถึงการกำหนดบทลงโทษทั้งจำและปรับ

ส่วนอีกร่างหนึ่ง คือ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร  ซึ่งเป็นเรื่องการจัดเก็บภาษีสกุลเงินดิจิทัลและไอซีโอจากผู้ประกอบการ ด้วยวิธีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% เมื่อมีรายได้จากการขายสกุลเงินดิจิทัล ทั้งจากผลกำไรและเงินปันผล หรือประโยชน์ผลตอบแทน

โดยผู้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายสามารถนำมารวมกับรายได้ตลอดปี หากมียอดเสียภาษีเกินก็สามารถขอภาษีคืนได้ แต่หากจ่ายค่าภาษีน้อยไปก็ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นไม่เหมือนกับการหัก ณ ที่จ่ายของดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันเงิน หรือการยกเว้นภาษีการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้น เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมให้มีการซื้อขายเงินสกุลดิจิทัล

นอกจากนั้น  นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังเปิดเผยถึง การเตรียมความพร้อมเพื่อเริ่มประกาศร่างพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล  เพื่อควบคุมการซื้อขายเงินดิจิทัลภายในสิ้นเดือนนี้  โดยกำหนดให้บริษัทที่ปรึกษาด้านเงินดิจิทัล และบริษัทที่เป็นตัวกลางการซื้อขาย เข้าลงทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ หรือ ก.ล.ต. ภายใน 6 เดือน หลังจากประกาศเริ่มบังคับใช้ หากไม่ลงทะเบียนและยังคงดำเนินธุรกิจต่อจะถือว่ามีความผิด

นอกจากนี้ยังกำหนดให้บริษัทตัวกลางเปิดเผยตัวตนและยืนยันที่มาของเงินอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการฟอกเงิน ส่วนการเรียกเก็บภาษีจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะเรียกเก็บจากผลกำไรของการซื้อขายเป็นหลัก ครอบคลุมไปถึงคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) และการระดมทุนผ่านการขายเหรียญหรือการทำ ICO (Initial Coin Offering) โดยจะจัดเก็บภาษี หัก ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรที่ได้มาจากการซื้อขาย และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ vat 7% ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนมือกับผู้ถือสินทรัพย์

ทั้งนี้แม้จะมีการออกกฎหมายการควบคุม คริปโตเคอเรนซี แต่ยืนยันว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่มีนโยบายยกเลิกประกาศเดิมที่ห้ามไม่ให้สถาบันการเงินทุกแห่งทำธุรกรรม หรือมีส่วนร่วมสนับสนุนการทำธุรกรรมผ่านคริปโตเคอเรนซี