Onlinenewstime.com : จากสถานการณ์น้ำฝน และน้ำท่าในปัจจุบัน (25 กันยายน2564) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น กรมชลประทานได้ทำการติดตามสถานการณ์น้ำ โดยใช้ผลการคาดหมายของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์สภาพอากาศไว้ดังนี้
ในช่วงวันที่ 24 – 25 กันยายน 2564 ร่องมรสุม พาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ที่อ่อนกำลังจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบน มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26 – 30 กันยายน 2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน
ทั้งนี้ อิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง มีฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ c2 จังหวัดนครสวรรค์ ในอัตรา 2,400- 2,500 ลูกบาศ์กเมตร/วินาที และคาดการณ์ว่าเเม่น้ำสะเเกกรัง จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ ct.19 จังหวัดอุทัยธานี ในอัตราประมาณ 200 ลูกบาศ์กเมตร/วินาที ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานว่า จากการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ และวิเคราะห์สถานการณ์น้ำฝนและน้ำท่า ทำให้กรมชลประทาน พิจารณาปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ระหว่าง 2,000 – 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะค่อยๆ ทยอยเพิ่มการระบายน้ำเป็นลำดับ โดยปริมาณน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.30 – 1.00 เมตร ในช่วงวันที่ 26 – 29 กันยายน 2564 ในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ดังนี้
1) จังหวัดอ่างทอง คลองโผงเผง, อำเภอป่าโมก, ตำบลเทวราช อำเภอไชโย, วัดไชโย
2) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คลองบางบาล, ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา, ตำบลลาดชิด, ตำบล ท่าดินแดง อำเภอผักไห่ (แม่น้ำน้อย)
3) จังหวัดชัยนาท ตำบลโพนางดำ, บ้านท่าทราย อำเภอสรรพยา
4) จังหวัดสิงห์บุรี ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี, วัดสิงห์, วัดเสือข้าม อำเภออินทร์บุรีม อำเภอเมือง, อำเภอพรหมบุรี
กรมชลประทานจะเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยควบคุมการปิด – เปิด ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และจะบริหารจัดการน้ำ และควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอย่างเต็มศักยภาพ โดยมิให้มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงสามารถปฏิบัติงานได้ทันที และได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานกาณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
25 กันยายน 2564