Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

กรมพัฒน์ฯ เดินหน้าขับเคลื่อนแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”ลดปัญหาสินค้าล้นตลาดรองรับผู้ซื้อตปท.และในปท. เริ่มมิ.ย.64

dbd29042021 1

Onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผนึกกำลัง 23 หน่วยงาน เดินหน้าผลักดันสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ช่วยเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ในรูปแบบ B2B 

ลดปัญหาสินค้าล้นตลาด สร้างโอกาสและขยายตลาดสินค้าเกษตรในระยะยาว คิกออฟเกษตรกรนำร่อง : กลุ่มสหกรณ์ 40 ราย จาก 25 จังหวัด เตรียมขายสินค้าผ่าน Thaitrade.com รองรับผู้ซื้อต่างประเทศ และ Phenixbox.com รองรับผู้ซื้อในประเทศ คาด!! เริ่มซื้อขายได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2564     

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ซึ่งมีอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์) เป็นประธาน อนุกรรมการร่วมว่า “จากการรับทราบปัญหาของสินค้าเกษตรและความต้องการของเกษตรกร จึงมีแนวทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ที่ออกตามฤดูกาลจำนวนมากและตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกร

โดยจัดให้มีแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ซึ่งเป็นตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับซื้อขายสินค้าเกษตรในรูปแบบการค้าแบบ B2B (Business-to-Business) เป็นการซื้อขายสินค้าเกษตรปริมาณมากในแต่ละครั้ง ช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกัน ทำให้เกิดตลาดใหม่ๆ ในการจำหน่ายสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม

สำหรับแพลตฟอร์มแบบ B2C (Business-to-Consumer) มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินการอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องจัดทำขึ้นมาใหม่ เกษตรกรที่มีความพร้อมในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ในลักษณะขายปลีก สามารถเลือกใช้บริการได้เลย ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าเกษตร ในการเพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว”  

อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “การจัดให้มีแพลตฟอร์มกลางฯ ดังกล่าว ช่วยต่อยอดจากการซื้อขายสินค้าเกษตรรูปแบบเดิม ที่เคยทำมาก่อน ช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ และตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้อย่างตรงจุดคือ ต้องมีข้อมูลความต้องการขายสินค้าเกษตร (Supply) โดยมีการคัดเลือกกลุ่มสินค้า ที่มีความพร้อมเป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อทดลองและเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มสินค้าเกษตรอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีผู้จัดการกลุ่มคอยช่วยเหลือและทำหน้าที่บริหารจัดการสินค้าภายในกลุ่มอย่างเป็นระบบ และสินค้ามีมาตรฐาน 

ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรนำร่อง (Quick Win) กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มสหกรณ์ที่มีศักยภาพและมีความพร้อม 40 ราย จาก 25 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ประกอบด้วยสินค้าที่หลากหลาก อาทิ ข้าว ไข่ไก่ เนื้อโคขุน น้ำนม ผัก ผลไม้ กาแฟ และสินค้าแปรรูปจากยางพารา”  

“นอกจากข้อมูลด้านความต้องการขายสินค้าเกษตร (Supply) แล้ว แพลตฟอร์มกลางฯ นี้ จะต้องมีข้อมูลความต้องการซื้อสินค้าเกษตร (Demand) ที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสินค้าในปริมาณมากในแต่ละครั้ง ต้องการสินค้าเกษต รเพื่อไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารหรืองานบริการ เช่น สมาคมการค้าต่าง ๆ (โรงแรม ร้านอาหาร โรงงาน)

รวมถึง ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ ผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ ทั้งนี้ แพลตฟอร์มกลางฯ นี้ยังสามารถซื้อ-ขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (Pre-order) 

เพื่อให้ผู้ที่มีอุปสงค์ และอุปทานสินค้าเกษตรได้พบกัน และสามารถซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้ ผ่านระบบการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การเจรจาทางธุรกิจ (Biz Chat) และการยื่นคำขอเสนอซื้อขายสินค้า (Request) ซึ่งจะต้องมีการกำหนดคุณลักษณะ หมวดหมู่สินค้า และมาตรฐานสินค้าที่ต้องการ (Quality Control) ต่อไป”  

“คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้วในลักษณะการซื้อขายแบบ B2B ได้แก่  Thaitrade.com  (ตลาดค้าส่งระดับโลกของไทย) ที่รองรับผู้ซื้อต่างประเทศ และ Phenixbox.com (ศูนย์ค้าส่งครบวงจรของเอกชน) ที่รองรับผู้ซื้อในประเทศ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที โดยจะมีการสร้างหน้าสินค้าเกษตรเฉพาะ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อทดสอบว่ าการขายสินค้าเกษตรประสบผลสำเร็จหรือไม่อย่างไร

ซึ่งนอกจากการนำสินค้าเกษตรขายบนช่องทางออนไลน์แล้ว กรมฯ ยังมีแผนจะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) จากคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสขยายตลาดให้เกษตรกรไทยอีกด้วย” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย  

ทั้งนี้ ข้อมูลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ปี 2562 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า กลุ่มธุรกิจ e-Commerce ของไทยมีอัตราการเติบโตที่น่าจับตามอง มีมูลค่าการเติบโตอยู่ที่ 3,767,045 ล้านบาท โดยธุรกิจประเภท B2C ไทยเติบโตครองแชมป์อันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งกลุ่ม B2B ของไทยยังคงครองแชมป์ e-Commerce ที่สามารถสร้างมูลค่าได้สูงสุดถึง 6 ปีซ้อน  

Exit mobile version