Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

กรมสรรพากร ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใน ปีภาษี 2565

กรมสรรพกร LOGO

Onlinenewstime.com : นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบหลักการมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากภาครัฐในปีภาษี 2565 เพื่อทำให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัว อันเป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ”

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริม และสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจ จึงได้ออกร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ

นายลวรณ แสงสนิท

เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าว จึงได้กำหนดให้เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ที่ได้ได้รับเป็นเงินสนับสนุน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากภาครัฐ ดังต่อไปนี้เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

1. เงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม และค่าซื้อสินค้า หรือบริการที่ได้ใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5

2. เงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ค่าสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพ ค่ารถเช่าหรือเรือเช่าเพื่อการท่องเที่ยวหรือ ค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน ตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

3. ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าเดินทาง และค่าซื้อแพ็กเกจทัวร์จากผู้ประกอบการนำเที่ยว ตามโครงการทัวร์เที่ยวไทย

4. ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและ ค่าซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5

5. ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเป็นค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและค่าซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3

6. ประโยชน์อื่นใดที่ได้รับตามโครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ

7. ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง

8. ค่าตอบแทนในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ และบุคคลภายนอก ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง

9. ค่าตอบแทนในการให้บริการฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกสถานพยาบาลตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ได้รับเงินจากการสนับสนุน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2565 จากภาครัฐตาม 9 ข้อดังกล่าว ไม่ต้องนำมารวมคำนวณ เป็นเงินได้พึงประเมินในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปีภาษี 2565 แต่อย่างใด”

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ เงินสนับสนุน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากภาครัฐในปีภาษี 2565 จะสามารถช่วยลดผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อภาคธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

ทั้งยังช่วยบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้รับการบรรเทาภาระภาษี และมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานต่อผู้ประกอบอาชีพอีกด้วย”

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161

Exit mobile version