Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

กระทรวง อว. โดย ม.มหิดล เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022

Onlinenewstime.com : มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี พร้อมด้วย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เข้าพบ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในโอกาสนำเสนอครม.พิจารณา เรื่อง ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 ภายใต้ชื่องาน RoboCup 2022, Bangkok, Thailand โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ณ หอประชุมไบเทค ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยใช้กรอบงบประมาณ ตามที่กระทรวงอว. เสนอ

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ กรรมการ RoboCup Board Trustee กล่าวถึง ความเป็นมา และการมีส่วนร่วมของประเทศไทยว่า หุ่นยนต์และโรโบติกส์ในปัจจุบันและอนาคต ทวีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวัน และการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม จนถึงสุขภาพและการแพทย์ ในยุคการเปลี่ยนผ่านด้วยดิจิทัลและนวัตกรรม

สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup ริเริ่มจัดโดยสมาพันธ์ RoboCup นานาชาติ (International Robocup Federation) จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540 เพื่อส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาด้านหุ่นยนต์ของโลก โดยเริ่มจากการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล ซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ และพหุศาสตร์หลายๆด้าน เช่น กลไกของหุ่นยนต์ การควบคุมการเคลื่อนที่ การรับรู้ของหุ่นยนต์ และการวางแผนการทำงาน เป็นต้น

เหล่านี้จึงเป็นสิ่งหนึ่ง ที่ทำให้นักวิจัยและนักพัฒนา เล็งเห็นความสำคัญและให้ความสนใจการแข่งขันนี้ รวมถึงประเทศไทยที่ให้ความสนใจ และได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขัน RoboCup อย่างต่อเนื่อง จนได้รับความสำเร็จสามารถครองแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยและหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็ก ในปี พ.ศ. 2545 ภายใต้การนำทีมของ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2559 รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง Trustee ของ International RoboCup Federation โดยจัดการแข่งขัน RoboCup การแข่งขันวิชาการหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ระดับนานาชาติ

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้รับการทาบทาม ให้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับภูมิภาคเป็น Super Regional RoboCup ภายใต้ชื่อ RoboCup Asia Pacific (RCAP) 2017 ขึ้นในประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน จาก 25 ประเทศทั่วโลก ในปี พ.ศ.2560 ทางสมาพันธ์ RoboCup นานาชาติ ได้ประจักษ์ถึงศักยภาพของประเทศไทย จึงเชิญให้เข้าร่วมคัดเลือกเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup ครั้งที่ 25

แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงได้เลื่อนการจัดงานออกไป และต่อมาได้สรุปกำหนดจัดงาน ในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ภายใต้ชื่องาน RoboCup 2022, Bangkok, Thailand

การพัฒนาวิทยาการด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม New S-Curves ของประเทศไทย การที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน RoboCup 2022, Bangkok, Thailand นั้น จึงเป็นการตอบรับ ต่อนโยบายของภาครัฐสู่การเป็น Thailand 4.0 ซึ่งจะเป็นการสร้าง Ecosystem ขนาดใหญ่ของประเทศ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดงานระดับโลก เป็นโอกาสสำคัญ ในการแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และวิศวกรรมของประเทศไทยบนเวทีโลก

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในการเสริมสร้างพัฒนาบุคลากร และเพิ่มจำนวนบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถ ในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ของประเทศ ให้มีความสามารถในระดับสากล และสามารถพัฒนาต่อยอดงานวิจัย รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายการพัฒนาความสามารถของนักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักเรียน และนักศึกษาไทย ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงระหว่างประเทศ เช่น ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และรองรับแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และ EEC อีกด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีความพร้อมในการดำเนินการจัดงานตามแนวทางนโยบายของกระทรวง อว. อย่างเต็มที่

Exit mobile version