Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS โรคร้ายที่คาดไม่ถึง

Onlinenewstime.com : กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือโรค ALS ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แนะออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทาน อาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมความเครียด หากมีอาการที่คล้ายจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยรักษาที่ถูกต้องป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า “โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง” ซึ่งมีชื่อทางการแพทย์ว่า Amyotrophic Lateral Sclerosis หรือที่เรียกสั้นๆ “เอแอลเอส (ALS)” เป็นโรคทางระบบประสาทโดยตรง เกิดขึ้นจากเซลล์ระบบประสาท ที่ควบคุมกล้ามเนื้อเสื่อม แก่และตายก่อนวัยอันควร

มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง แขนขาลีบ มีการกระตุกเต้นของกล้ามเนื้อ กว่า 70% จะเริ่มเป็นที่บริเวณแขนขาข้างใดข้างหนึ่งก่อนจะลุกลามไปสู่กล้ามเนื้อส่วนอื่น เช่น กล้ามเนื้อการกลืน กล้ามเนื้อทางระบบหายใจ ส่งผลทำให้พูดไม่ได้ หรือหายใจเองไม่ได้ จึงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และทานอาหารผ่านสายยาง

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 4 – 6 คนต่อประชากร 100,000 คน และจะมีโอกาสพบผู้ป่วยรายใหม่ได้ประมาณ 1-3 คน ต่อปี โดยโรคนี้มักจะเกิดในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 – 60 ปี และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตหลังเกิดอาการเพียง 3 – 4 ปี มีเพียงแค่ 10% เท่านั้น ที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานสูงสุดถึง 10 ปี ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาด การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการ และประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ได้นานที่สุด

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ แต่ต้องกินยาตามแพทย์สั่งตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้ดูแลต้องพยายามให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย ทำกิจกรรมสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อลีบแบน เกิดแผลกดทับและการติดของข้อ

พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด รับประทานอาหารที่อ่อนนุ่ม และไม่ต้องเคี้ยวมาก ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องการกลืน หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเกินไป และหลีกเลี่ยงการรับหรือสัมผัสกับยาฆ่าแมลง หรือพวกโลหะหนักและรังสีรุนแรง ซึ่งจะกระตุ้นทำให้เซลเสื่อมสภาพและตาย

นอกจากนี้คนในครอบครัวและญาติ ต้องให้กำลังใจและอยู่เคียงข้าง เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุขที่สุด เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริง ทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ แต่มีคำแนะนำด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี ที่สำคัญออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และหากสงสัยว่าจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามต่อไป

Exit mobile version