Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

กอนช. เตือน! จับตาเขื่อนแก่งกระจาน-ปราณบุรี-ห้วยไทรงาม เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง ช่วง 6-10 ต.ค.นี้

กอนช4102021

Onlinenewstime.com : ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติฉบับที่ 18/2564 เรื่อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

จากการคาดหมายสภาพอากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 5 – 9 ตุลาคม 2564 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้คาดการณ์ปริมาณฝนตก (ONE MAP) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ของกรมทรัพยากรธรณี

พบว่า ในช่วงวันที่ 6-10 ตุลาคม 2564 มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ดังนี้

1. เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณในพื้นที่ อำเภอแก่งกระจาน อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย อำเภอเมือง อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอท่าแซะ อำภอปะทิว จังหวัดชุมพร และอำเภอเมือง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

2. เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นทางระบายน้ำล้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง บริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่

2. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ และเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ สำหรับคลองชายทะเลให้พร่องน้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ

3. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

5. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

ประกาศ ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2564

Exit mobile version