Onlinenewstime.com : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 นี้ คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มเดินมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย และคาดว่าในไตรมาศแรกจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวจีน
แต่เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด -19 ระยะเวลากว่า 3 ปี ทำให้ภาคการท่องเที่ยวขาดแคลนแรงงานไม่น้อย ต่อปัญหาดังกล่าวจึงเสนอ 4 แนวทางหลักในการแก้ปัญหาแรงงานขาด ในช่วงเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจีน โดยประกอบด้วย 1.) การเพิ่มแรงงานเสริม (Additional Non-permanent Staff) การรับนักศึกษาฝึกงานแบบสหกิจศึกษาและการฝึกงานแบบปกติเพื่อเสริมทีมพนักงานประจำ โดยเน้นนักศึกษาที่มีทักษะการบริการและสามารถใช้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษได้
หรือการรับนักศึกษามาทำงานแบบรายวัน (Casual) สำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือระหว่างสัปดาห์แล้วแต่ความต้องการสถานประกอบการ หรือทำงานแบบรายชั่วโมง โดยวิธีการนี้สามารถรับนักศึกษาด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมระดับปริญญาตรีหรือสายอาชีวศึกษา ขึ้นอยู่กับระดับของสถานประกอบการว่าต้องการทักษะภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษระดับใด
หากเป็นโรงแรม 4-5 ดาว อาจเน้นความสามารถด้านภาษามากขึ้น การจ้างแบบนี้จะเป็นการสนับสนุนการฝึกทักษะให้แก่นักศึกษาในระหว่างเรียน และยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถรับผู้เคยมีประสบการณ์ด้านโรงแรม ท่องเที่ยว บริการที่ลาออกไปแล้ว และมีอาชีพอื่น แต่ยังสามารถมาช่วยงานแบบรายวัน หรือรายชั่วโมงเมื่อต้องการ
2.) การอบรมทักษะเพิ่มเติมหรือเพิ่มทักษะใหม่ (Upskill and New skill) หลังจากการระบาดของโควิด-19 เกือบ 3 ปี ทำให้พนักงานเก่าอาจลาออก หรือย้ายงาน ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมและบริการจำเป็นจะต้องจัดอบรมทักษะภาษาจีน อบรมความรู้พื้นฐานวัฒนธรรมจีน การสื่อสารที่ถูกต้อง เช่น อะไรควรหรือไม่ควรทำ (dos and don’ts) และประเด็นละเอียดอ่อนต่าง ๆ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและควรบริการชาวจีนอย่างไร เป็นต้น
3.) การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและการบริการ (Effective Communication and Service) ควรมีการสื่อสารและให้ข้อมูลเรื่องการบริการต่าง ๆ ด้วยภาษาจีนในโรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว อย่างครบถ้วนและเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถศึกษาด้วยตนเอง และลดการสอบถามพนักงาน ข้อมูลที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์ และสื่อโซเชียลอื่น ๆ ควรถูกต้องและตรงกับความเป็นจริง
เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาตามมา และควรเพิ่มการบริการด้วยตัวเอง (Self service) มากขึ้น โดยอาจวางสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ และใช้ภาษาจีนแบบสั้นๆ หรือสัญญาลักษณ์ที่เข้าใจง่ายแทน จะช่วยลดความต้องการผู้ให้บริการได้ พร้อมด้วยการจัดเตรียม facilities และ อุปกรณ์ในการบริการต่าง ๆ ให้พร้อมตามจุดต่าง ๆ โดยคาดคะเนความต้องการล่วงหน้า เพื่อลดการขอบริการเพิ่มเติมจากพนักงาน
นอกจากนี้ ควรมีการจัดระบบคิว (Queueing system) การกำหนดเส้นทางการเดินเข้าและออก เพื่อลดความสับสน การเดินสวนทาง และลดปัญหาการแซง จะทำให้บริการง่ายขึ้น และไม่ส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยวทั่วไป หรือจัดแยกโซนหากคาดว่าจะรับนักท่องเที่ยวเป็นกรุ๊ป ขณะเดียวกัน ในจุดที่มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก เช่น จุดขายบัตรเข้าชมแหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง จุดขายคูปองตาม food courts ควรมีล่าม หรือนักศึกษาฝึกงานที่สามารถใช้ภาษาจีนได้ดีมาช่วยเป็นล่ามเสริม และให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยว
4.) การใช้เทคโนโลยี่มากขึ้น (Use more IT) การใช้เทคโนโลยีมาช่วยด้าน check-in/check-out การตรวจสอบยอดการชำระเงินล่วงหน้า วิธีการชำระเงิน ก็สามารถช่วยลดความต้องการติดต่อผู้ให้บริการในโรงแรมได้ ส่วนในจุดท่องเที่ยว หรือร้านอาหารควรมีระบบ card หรือ QR code มาช่วยในการให้ข้อมูลและการชำระเงิน
ผศ.ดร. มณฑกานติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวางแผนการจัดการนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะลดปัญหาการขาดพนักงานแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายการจ้างงานประจำ และสามารถบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาคธุรกิจควรมีการประสานงานกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น เพื่อรับนักศึกษามาฝึกงาน และทำงานแบบรายวันและรายชั่วโมง โดยมีค่าตอบแทนตามความเหมาะสม
ขณะเดียวกันในแต่ละธุรกิจก็ต้องจัดระบบพี่เลี้ยง เพื่อให้เกิดประโยชน์และให้ความรู้แก่นักเรียนและนักศึกษาด้วย การทำงานแบบนี้จะก่อให้เกิด win-win ทั้ง 2 ฝ่ายและทำให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการได้ในช่วงหลังโควิด- 19 ที่ลูกค้าต่างชาติกลับมาแล้ว
“แม้รัฐบาลจะพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจีน แต่ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ขนส่ง ร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ควรเน้นการบริการโดยใช้ระบบ SHA+ ต่อไป โดยจะต้องยึดแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ เช่น มีเจลแอลกอฮอล์ไว้ล้างมือ การใช้ช้อนกลาง หรือเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวใส่แมสก์เมื่ออยู่ในที่ที่อากาศปิด และพนักงานรวมทั้งแรงงานเสริมควรได้รับการฉีดวัคซีนตามข้อกำหนด
การช่วยกันดูแลสุขอนามัยและสอดส่องนักท่องเที่ยวผู้มีความเสี่ยงในช่วงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจีนยังมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะวิธีการสื่อสารเรื่องมาตรการป้องกันอย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยป้องกันนักท่องเที่ยวจากการเจ็บป่วย หรือหากติดแล้วก็จะช่วยจัดการดูแลรักษาให้หายได้เร็ว ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจและเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างมีความสุข ขณะเดียวกันก็ช่วยป้องกันพนักงานขององค์กรและชาวไทยให้ปลอดภัยจากการติดเชื้ออีกด้วย” ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าวในตอนท้าย