onlinenewstime.com : สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ แนะผู้ปกครองตั้งสติ ควบคุมอารมณ์ พูดคุยด้วยเหตุผล พร้อมหาทางออกร่วมกัน เมื่อลูกติดยาและก้าวร้าว
นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ครอบครัวเป็นสถาบันแรก ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชน แต่ในสังคมปัจจุบัน พบว่ามีเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่ง ที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้พวกเขาออกไปแสวงหาสิ่งทดแท นมาเติมเต็มในสิ่งที่เขารู้สึกว่าขาดหายไป เช่น จับกลุ่มกับเพื่อนชักชวนกันทำสิ่งที่ล่อแหลม และเสี่ยงอันตรายต่อตนเอง เที่ยวกลางคืน สูบบุหรี่ ดื่มสุราและเสพยาเสพติด
ด้วยความเยาว์วัยและขาดประสบการณ์ ทำให้เด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งหมดอนาคต ขาดโอกาสที่ดีในชีวิต
เมื่อผู้ปกครองทราบว่าบุตรหลานของท่าน เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การตั้งสติและควบคุมอารมณ์ เพราะถ้าผู้ปกครอง ซึ่งเป็นคนที่บุตรหลานเห็นเป็นที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา ไม่สามารถควบคุมสติได้ เขาอาจไปปรึกษาหรือพึ่งพาคนอื่น และจะเป็นการเพิ่มปัญหา หรือทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา
ทั้งนี้ต้องพูดคุยด้วยความใจเย็น พร้อมจะเป็นที่ปรึกษา และให้ความช่วยเหลือ พูดคุยถึงสาเหตุที่ใช้ยาเสพติด วิธีการใช้ จำนวนและความถี่ ตลอดจนพร้อมช่วยกันคิด และหาทางออกของปัญหาร่วมกัน
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อบุตรหลานติดยา และมีอาการก้าวร้าว ผู้ปกครองบางท่าน อาจใช้ความรุนแรง ผลที่ตามมาคือเกิดความแตกหักร้าวฉานในครอบครัว
ดังนั้นเมื่อพบว่าเด็กมีความก้าวร้าว ต้องตั้งสติ และอย่าตื่นเต้นตกใจกับพฤติกรรมดังกล่าว ควรประเมินสถานการณ์ หากก้าวร้าวไม่มาก ให้พูดคุยด้วยเหตุผล เปิดใจรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะบางครั้ง การที่เด็กก้าวร้าวอาจมีสาเหตุจากปัญหาภายในครอบครัว การเลี้ยงดู สภาพจิตใจ สภาพแวดล้อมและสังคม รวมถึงผลจากการใช้ยาเสพติด
การยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อหาสาเหตุจะช่วยให้การแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด แต่หากบุตรหลานมีพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างรุนแรง หรือมีอาการคลุ้มคลั่ง หูแว่ว เห็นภาพหลอน ต้องรีบพาไปปรึกษาแพทย์ หรือนำส่งสถานบำบัดรักษายาเสพติด เพื่อช่วยควบคุมสถานการณ์
เมื่อจัดการปัญหาดังกล่าวได้แล้ว ควรพยายามเข้าใจ และให้กำลังใจ ทั้งนี้ เมื่อบุตรหลานกลับมาเป็นคนเดิม ควรให้เวลาอย่างสม่ำเสมอ เช่น พูดคุยกันในตอนเย็น ระหว่างทานอาหารค่ำ เล่นกีฬาด้วยกัน หรือไปเที่ยวต่างจังหวัดร่วมกันในวันหยุด สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว ให้กลับมาอีกครั้ง
หากประสบปัญหาด้านยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เวปไซด์ หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี
Cr. กรมการแพทย์ และสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี