Onlinenewstime.com : เป็นที่ทราบกันดีว่า “ตัวการใหญ่” ทำให้การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ลุกลามขยายวงกว้างไปในประเทศทั่วโลกนั้น มี “คน” เป็นพาหะในการแพร่เชื้อไวรัส (ตัวเลขผู้ป่วยทั่วโลก วันที่ 25ก.พ. 2563 มีจำนวน 80,147 ราย ผู้เสียชีวิต 2,699 กำลังรักษา 27,668 )
สำหรับในประเทศไทยที่ผ่านมา แม้ว่าแพทย์จะตรวจพบคนป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นโควิด-19 ก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ก็ไม่มีอำนาจทางกฏหมาย ที่จะสามารถดำเนินการกักกันตัวคนๆนั้นไว้ได้ หากผู้ป่วยจะร้องเรียนว่าการกักกันเป็นการถูกจำกัดอิสรภาพ
ดังนั้นประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่14 ในครั้งนี้ จึงถือเป็นมาตรการเข้มในการ “ควบคุม” เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว ซ้ำรอยกับที่ประเทศเกาหลีใต้ที่ผู้ป่วยติดเชื้อไม่ยอมให้กักตัว 14 วัน ซึ่งเหตุการณ์นี้จึงเป็นที่มาของการระบาดอย่างกว้างขวางที่เกาหลีใต้
นอกจากนั้น ยังเป็นมาตรการสำคัญ ที่ช่วยชะลอโควิด-19 ในประเทศไทย ไม่ให้มีการระบาดขยายไปสู่ระยะที่ 3 อย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายถึงต้องมีความพร้อม ในการรับมือกับโรคในหลายด้าน อาทิ เวชภัณฑ์ บุคลากรในการรักษาโรค
สำหรับในรายละเอียดของการประกาศโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่14 เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่14
หลังจากนี้จะมีการรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ จากนั้นจะมีการประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมย้ำว่า การประกาศนี้ เพื่อควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 เป็นการควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง และสามารถยกเว้นยาบางตัวที่เคยมีการวิจัยว่ารักษาหายได้ แต่ยังไม่มีการรับรองจากองค์การอาหารและยา
การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่และบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน
การประกาศในครั้งนี้ จะสามารถรองรับเจ้าหน้าที่ ให้มีเครื่องมือในการป้องกันและควบคุมโรค พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34(1) ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีอำนาจในการดำเนินการ ผู้ใดที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดหรือผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรคหรือเป็นพาหะมารับการตรวจหรือรักษาเพื่อความปลอดภัย อาจดำเนินการโดยการแยกกักกัน หรือควบคุมไว้สังเกตจนกว่าจะได้รับการตรวจว่าพ้นระยะติดต่อของโรค มีกรณีตัวอย่าง เช่น ผู้ป่วยชาวต่างชาติ มารับการตรวจในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในไทย พบว่าเป็นไข้ แต่ไม่อนุญาตให้แพทย์กักกัน ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
หลังจากนี้ หากมีคนฝ่าฝืนจะถือว่ามีความผิด ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือมีกรณีหากจงใจแพร่เชื้อโรค ก็มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท เช่นกัน
รู้จัก “โรคติดต่ออันตราย” การรายงานโรค ตามพระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ความหมายของโรคตามมาตรา ๔ โรคติดต่ออันตราย หมายความว่า โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามสำหรับ 13 โรคติดต่ออันตราย ที่ได้มีการประกาศไปแล้ว คือ 1. กาฬโรค 2. ไข้ทรพิษ 3. ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4. ไข้เวสต์ไนล์ 5. ไข้เหลือง 6. โรคไข้ลาสซา ไข้เลือดออก 7. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ 8. โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10. โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11. โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส 12. โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส 13. วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก