fbpx
News update

ทิศทางของการใช้“กัญชาทางการแพทย์”

onlinenewstime.com : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จัดเวทีประชุมสัมมนา ระดมความคิดเห็นเรื่อง รู้ทันกัญชา “คลายปมปัญหา – เดินหน้า” เพื่อประชาชน ที่จัดขึ้นในวันอังคารที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ข้อคิดเห็น ในงานเสวนาเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ที่มีภาคประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น และตัวแทนจากแวดวงต่างๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์นั้น สำหรับในประเด็นกัญชาทางการแพทย์ มีการแสดงความคิดเห็น ในเรื่องของ การเข้าถึงยาของผู้ป่วย มองว่าเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ควรถูกปิดกั้น โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยใช้การรักษาแบบอื่นไม่ได้ผลแล้ว และมีหลักฐานทางการแพทย์ว่า การใช้กัญชาอาจได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม กัญชาควรถูกมองเป็นยาที่มีทั้งประโยชน์และโทษ ต้องใช้เมื่อมีข้อบ่งใช้อย่างระมัดระวัง  

ในด้านการนำมาใช้ มีข้อเสนอเชิงนโยบายว่า ผู้ป่วยมีสิทธิ ในการได้รับข้อมูลด้านการรักษาด้วยกัญชา และต้องสามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้

รวมถึงการส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาหมอชาวบ้าน ซึ่งในการรักษาด้วยกัญชานั้น ควรมีระบบควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดการนำไปใช้ ในทางที่ไม่เหมาะสม ควรให้กัญชาเป็นยา ที่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกด้วยเช่นกัน

ด้านการปลูก ผลิตและแปรรูปนั้น มี 6 ข้อเสนอ เชิงนโยบายดังต่อไปนี้

  1. ให้ ผู้ป่วยสามารถปลูกกัญชาได้ ทั้งนี้ อาจปลูกได้ โดยการรวมกลุ่มหรืออยู่ในรูปของวิสาหกิจชุมชนที่เกิดขึ้นจริง โดยมีกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่เหมาะสม เช่น ชุมชนสีขาวปลอดยาเสพติด จึงจะให้ปลูกกัญชาได้
  2. พัฒนาสายพันธุ์ไทย และพัฒนาวิธีการปลูกที่มีคุณภาพมาตรฐาน ที่ชุมชนสามารถปลูกและนำไปใช้ได้ โดยร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทย และมหาวิทยาลัย
  3. พัฒนาโมเดลการปลูกที่เหมาะสมในชุมชน เช่น การให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ( รพ.สต. ) เป็นศูนย์กลางการปลูก ผลิต และใช้ อย่างปลอดภัยในพื้นที่ และพัฒนาโมเดลของการรวมกลุ่มในพื้นที่เขตเมือง
  4. ให้รัฐบาลเร่งสนับสนุนและเร่งผลักดัน การรวมกลุ่มของผู้ป่วยหรือวิสาหกิจชุมชน ในการเพาะปลูกกัญชาอย่างจริงจัง และควบคุมอย่างรัดกุมในทุกๆขั้นตอน
  5. ควรให้ความรู้ด้านการผลิต สกัด และใช้กัญชา โดยหน่วยงานของรัฐ ให้แก่ผู้ต้องการปลูก ผลิต แปรรูป ที่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งจัดระบบรับซื้อ จากภาคประชาชนอย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษา ที่ง่ายและราคาถูก และปรับปรุงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม
  6. มีศูนย์กลางกระจายความรู้ให้ประชาชนที่ปลูกเพื่อการค้า และกระจายศูนย์ควบคุมไปพร้อมๆกัน เพื่อป้องกันการใช้หรือจำหน่ายที่ผิดวัตถุประสงค์  ไม่ควรกระจุกอำนาจการควบคุมหรือจำหน่ายอยู่ที่ใดที่หนึ่ง

ขณะเดียวกัน ในด้านการศึกษาวิจัย กัญชาทางการแพทย์นั้น มี 3 แนวทาง คือ

  1. วิจัยทางคลินิก ในการรักษาโรคที่ยังไม่รับรอง เช่น เบาหวาน ความดัน ซึมเศร้า สะเก็ดเงิน โรคตา 
  2. การทดสอบทางห้องปฏิบัติการ ในการพิสูจน์เอกลักษณ์ของกัญชา ปริมาณสารสำคัญและสารปนเปื้อน ที่อาจมีในกัญชา ที่ราคาเหมาะสม
  3. วิจัยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น

โดยในการระดมความคิดเห็นครั้งนี้ มีตัวแทนที่เป็นผู้มีความรู้และมีบทบาทการทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับการนำกัญชา มาใช้ในทางการแพทย์ ในแง่มุมต่างๆ เข้าร่วมเสวนาด้วย นับตั้งแต่ประเด็น “สถานการณ์การใช้กัญชาสำหรับประชาชน” โดย นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

ตามมาด้วย “ทิศทางการใช้กัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์” โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“แนวทางการวิจัยในกัญชาและหลักเกณฑ์การขออนุญาต” โดย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์

เรื่องของ “การมีกัญชาไว้ครอบครองสำหรับประชาชน” ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยนายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์

“หลักการปลูกและการสกัดสารจากกัญชา” จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดย ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล และอาจารย์เดชา ศิริภัทร จากมูลนิธิข้าวขวัญ ร่วมเสวนาในมุมมอง “องค์การเภสัชกรรม และประสบการณ์การใช้กัญชาในภาคประชาชน”

ข้อดี-ข้อเสีย และความพร้อมของประเทศไทยกับการใช้กัญชาทางการแพทย์