Onlinenewstime.com : สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย MIDL ภาคเหนือ จัดงานเสวนาออนไลน์ “ฟังเสียงเยาวชน : เมื่อ ดราม่ากระจายเร็วกว่า Covid” เปิดตัวอย่างสถานการณ์ข่าวลวง-ความเหลื่อมล้ำของแรงงานข้ามชาติใน จ. เชียงใหม่ ชูนวัตกรรมแนวคิดรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL) รับมือดราม่าข่าวลวงในภาวะวิกฤติโควิด-19 เน้นเด็กเยาวชน คือกำลังสำคัญในการร่วมสร้างเมืองปลอดภัย
คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า “ในเมืองๆ หนึ่งมีความหลากหลายทั้งเรื่องของเพศ วัย เชื้อชาติ ฯลฯ เวลาที่เมืองเจอกับภาวะวิกฤติ เช่น การระบาดของโควิด-19 ถ้าเราเห็นความหลากหลาย เราจะมองเห็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การรับสื่อ ใช้สื่อที่ไม่เท่าเทียมกัน
ด้วยเป้าหมายของ สสย. และ สสส. ที่เห็นความสำคัญ ในการสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม เราจึงได้นำเอานวัตกรรมแนวคิดการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL) ที่เราพัฒนาขึ้น มาใช้เพื่อเป็นกระบวนการในการส่งเสริม แก้ไขปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมของคนที่มีความหลากหลายในเมือง
แม้ว่าในสถานการณ์วิกฤติ เราจะเจอกับข่าวลือ ข่าวลวง โฆษณาเกินจริง แต่ด้วยกระบวนการของ MIDL ที่เน้นการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ภายใต้จิตสำนึกความรับผิดชอบของการเป็นพลเมือง จึงทำให้เราได้เห็นพลังการมีส่วนร่วมของทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเยาวชนที่มีความถนัดในการใช้สื่อดิจิทัล ได้เข้ามาช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์เมืองให้น่าอยู่และปลอดภัย”
ด้าน คุณพิมพ์สิริ จินาจันทร์ ตัวแทนเยาวชนสื่อสารสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ข่าวลวงว่า “การระบาดของโควิด-19 ระลอกสองนั้น มีการเผยแพร่ข่าวลวงมากกว่าระลอกแรกเยอะมาก มีทั้งการนำข่าวเก่ามาทำให้ใหม่ เช่น การนำภาพเจ้าหน้าที่ ทำความสะอาดพื้นที่ ในการระบาดระลอกแรก มาประกอบข่าวลวงว่าตอนนี้เชียงใหม่มีการปิดหมู่บ้าน เนื่องจากการระบาดลุกลามไปมาก
หรือแม้กระทั่งมีการนำข่าวเก่ากับข่าวใหม่ มาเล่าผสมกัน ซึ่งข่าวลวงเหล่านี้ สร้างความสับสนให้กับประชาชน ส่งผลกระทบต่อจังหวัดเชียงใหม่เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว รวมถึงไปสร้างความเข้าใจผิดๆ เกิดการรังเกียจ ผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาด
ซึ่งทางจังหวัดก็มีการรับมือ ด้วยการจัดตั้งกลุ่มนักข่าว คอยคัดกรองข่าวลวงตามช่องทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้โดยตรง เช่น เว็บไซต์ของสำนักงานสาธารณสุขเชียงใหม่ รวมไปถึงการใช้สื่อผู้นำชุมชน วิทยุชุมชน เป็นกระบอกเสียง ที่ส่งตรงไปยังชาวบ้านที่ยังเข้าไม่ถึงสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขข่าวลวงเหล่านี้จะสำเร็จได้ ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนในเมืองต้องช่วยกัน”
ในส่วนของ คุณแสงเมือง มังกร จากมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของกลุ่มชาติพันธ์ุ ได้กล่าวว่า “การระบาดของโควิด-19 ระลอกสองเป็นการค้นพบในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ จะมีปัญหาในการเสพสื่อ ที่ไม่ค่อยตรงกับข้อเท็จจริงสักเท่าไร แม้เขาจะเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่าย แต่การเข้าถึงง่ายก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่เข้ามาหาผลประโยชน์ได้ง่ายเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น เรื่องของการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่มีผู้ไม่หวังดี คอยมาหลอกให้เสียเงินเสียทองหลายต่อหลายครั้ง การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เราใช้การมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ชุมชน เยาวชน มาช่วยกันออกแบบสื่อที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย สร้างสื่อที่เป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ มีความถูกต้อง รวดเร็ว นำไปปฏิบัติได้จริง อยากฝากไว้ว่า เราต้องให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์พื้นที่สื่อที่มีข้อเท็จจริงมากขึ้น อย่าเห็นเพียงแค่ผลประโยชน์ในทางสื่อ การสร้างสื่อควรจะอยู่บนจิตวิญญาณในการทำให้สังคมมีความสุขร่วมกัน”
ด้านตัวแทนเยาวชนแรงงานข้ามชาติ คุณหนุ่มเมือง นาทอง กล่าวว่า “ช่วงโควิด-19 พวกเราเยาวชนแรงงานข้ามชาติ มีการรวมตัวกันทางออนไลน์ ใช้การสื่อสารทางเฟซบุ๊กบ้าง ไลน์บ้าง ช่วยกันรณรงค์เรื่องโควิด-19 มีการทำป้ายรณรงค์ภาษาชาติพันธุ์ ไปติดในพื้นที่ต่างๆ ของชุมชน
พวกเราจะช่วยอธิบายเรื่องการดูแลตัวเองให้กับพ่อแม่ รวมถึงคอยคัดกรองข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต เพราะบางทีพ่อแม่เขาจะไม่เข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องความกังวล ในการจดทะเบียนแรงงาน มีการหลอกลวงจ้างงานออนไลน์ ที่บางครั้งก็ได้ค่าแรงไม่ตรงกับที่บอกไว้ หรือการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลต่างๆ “
ขณะที่ คุณพิชชาพร วัฒนพันธุ์ นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “เราเป็นคนต่างเมืองมาเรียนที่เชียงใหม่ ช่วงโควิดพ่อแม่และเพื่อนๆ ก็จะเป็นห่วงเรามาก เขาคอยส่งข่าวมาให้เราตลอดเวลา แต่ข่าวที่เขาส่งมา บางทีมันก็ไม่ใช่เรื่องจริง เราก็เลยต้องทำหน้าที่คอยคัดกรองข่าวให้กับคนรอบตัว คอยบอกสถานการณ์ในพื้นที่จริง ให้กับคนข้างนอก
ยอมรับว่าบางทีข่าวที่เรารับมาก็เป็นข่าวลวงเหมือนกัน ก็ต้องตรวจสอบตามสื่อต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ อยากฝากเพื่อนๆ ว่าเราอยู่กับสื่อกันตลอดเวลามากกว่า 90% เมื่อรับข่าวมา ก็อย่าเพิ่งเหมารวมว่าทุกข่าวเป็นข่าวลวงไปทั้งหมด จนละเลยการป้องกันตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็อย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมด ขอให้ระวังไว้ก่อน อย่าเพิ่งนึกว่าเรารู้ดีอยู่แล้ว ขอให้เช็คความถูกต้องก่อนนิดหนึ่งแล้วจึงค่อยเชื่อหรือส่งต่อออกไป”
การเสวนาออนไลน์ฟังเสียงเยาวชน : เมื่อดราม่ากระจายเร็วกว่า Covid เป็นหนึ่งในกิจกรรมโครงการสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เพื่อเมืองของทุกคน ประจำปี 2563 MIDL for Inclusive Cities 2020 : “ละอ่อน ฮ่วมใจ๋ ตีฆ้อง แป๋งเมือง” ภายใต้นวัตกรรมแนวคิด MIDL โดย สสย. ร่วมกับ สสส. เปิดพื้นที่ให้เยาวชนพลเมืองดิจิทัลสื่อสารอย่างเท่าทันและสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสังคมไทยสุขภาพดีไปด้วยกัน