fbpx
News update

“ปิดทองหลังพระ” จับมือเครือข่ายให้ความรู้แก้ไขหนี้สินในพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาจังหวัดน่าน

Onlinenewstime.com : นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า หลังจากสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ได้เข้ามาให้การส่งเสริมการพัฒนาพื้นในจังหวัดน่านตั้งแต่ปี 2552 ถึงขณะนี้เวลา 10 ปีแล้ว ประชาชนในพื้นที่เริ่มพัฒนาได้ด้วยตนเอง

โดยพบว่าระดับรายได้ของคนในพื้นที่ ได้ปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบข้อมูลที่น่ากังวลว่าแม้รายได้จะดีขึ้น แต่การออมรวมถึงปัญหาหนี้สินไม่ได้ดีขึ้น ทำให้สถาบันฯ จะเริ่มปรับบทบาทการทำงาน มาส่งเสริมในด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนในพื้นที่มากขึ้น

ทั้งนี้ ในวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ได้ร่วมกับจังหวัดน่าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเป็นการให้ประชาชนในจังหวัดน่านเห็นถึงความสำคัญของปัญหาหนี้สินและการออม ภายใต้หัวข้อ เงิน เงิน เงิน : การจัดการการเงินและการลงทุนแบบชาวบ้าน โดยมีตัวแทนจากชาวบ้านทั่วจังหวัดน่านร่วมรับฟังประมาณ 300 คน

“เวทีในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางสถาบันฯ จะปรับรูปแบบการทำงาน มาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้คนในพื้นที่ จ.น่าน สามารถแก้ไขหนี้สินได้ด้วยตนเอง หลังจาก 9-10 ปีที่ผ่านมา ที่ส่งเสริมให้เขาสามารถพัฒนาและเพิ่มรายได้ให้ตนเองได้แล้ว โดยช่วงเริ่มต้นจะทำในพื้นที่เล็กๆ ระยะเวลาประมาณ 6 เดือนประเมินผล แล้วค่อยขยายพื้นที่ออกไป โดยเราไม่ได้กำหนดว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนที่จะไขปัญหาได้หมด เพราะเรื่องหนี้สินมีปัญหามาจากหลายมิติรวมถึงมิติของค่านิยมและวัฒนธรรม”

นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ รองผู้ว่าราชการ จังหวัดน่าน กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอหลายพื้นที่ในภาคเหนือพบว่า ทุกพื้นที่มีปัญหาหนี้สิน โดยหลัก ๆ คือหนี้ที่มาจากการศึกษา เพราะผู้ปกครองมีค่านิยมจะต้องส่งลูกหลานเข้าไปเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง หนี้ที่มาจากรายจ่ายจากค่าสุรา ค่าหวย ขณะเดียวกันเมื่อมีรายได้สูงขึ้นในช่วงราคาพืชผลเกษตรดี ก็ยังไม่ปรากฏว่าการออมดีขึ้น หรือหนี้สินลดลง เพราะส่วนใหญ่เมื่อมีเงินก็นำไปใช้จ่าย เช่น ซื้อรถไถเดินตาม รถจักรยานยนต์ รถยนต์ สร้างวงจรหนี้ใหม่

หนี้ครัวเรือนถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศในเวลานี้ โดยกรณีของจังหวัดน่านเองหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 200,000 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้การเกษตร 60,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งการแก้ไขปัญหาไม่มีสูตรสำเร็จแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วน ทั้งรัฐ เอกชนและประชาชน โดยเฉพาะการให้ความรู้ด้านการเงินและแนวทางการแก้หนี้ที่ประชาชน โดยเฉพาะในชนบทยังมีความรู้จำกัด

นายชนินทร์ เพชรไทย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ กล่าวในการบรรยาย หัวข้อ “สถานการณ์ภาพรวมของการก่อหนี้” ว่าประเด็นที่น่าเป็นห่วง เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศคือ กรณีที่คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น โดยเฉพาะคนเจนวายที่เพิ่งเริ่มทำงานและส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค ในขณะที่คนสูงอายุวัยเกษียณแล้ว ก็ยังมีหนี้ในระดับสูง เป็นปัญหาว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วและยาวนาน

ทั้งนี้ ณ ปี 2561 พบว่าคนไทยมีหนี้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่คนละ 574,100 บาท เพิ่มจากปี 2553 ที่มีคนละ 400,800 บาท ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่เป็นการซื้อสินค้าอุปโภค ต่างจากคนต่างประเทศ ที่เป็นหนี้เพราะซื้อที่อยู่อาศัย และเมื่อพิจารณาภาพรวมแล้วจะพบว่าคนไทยทั่วประเทศ 1 ใน 3 เป็นหนี้

“จากข้อมูลพบว่า คนเจนวายกลุ่มอายุประมาณ 29-31 ปี ซึ่งข้อมูลระบุว่า หากคนอายุเท่านี้เดินมาพร้อมกัน 2 คน หนึ่งคนในนั้นเป็นหนี้แน่ๆ และในจำนวนคนรุ่นใหม่ที่เป็นหนี้ 1 ใน 5 จะเป็นหนี้เสียด้วย ส่วนผู้สูงอายุตอนนี้ก็น่ากังวล เพราะจากข้อมูลพบว่าคนไทยอายุ 60-65 ปี ยังมีเฉลี่ยอยู่ที่ 4.53 แสนบาท และที่น่าตกใจคือคนอายุ 70-79 ปี ก็ยังมีหนี้สูงถึง 2.87 แสนบาท” นายชนินทร์กล่าว

นายชนินทร์ เสริมว่า รายจ่ายที่คนไทยควรลดลงให้ได้เพื่อลดปัญหาหนี้สิน 5 อันดับแรก คือ ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว 83% รองลงมาคือ การซื้อเสื้อผ้า 73% รับประทานอาหารนอกบ้าน 58% ซื้อของใช้ส่วนตัว 54% และใช้จ่ายเกี่ยวกับความบันเทิง และซื้อหวยเท่ากันที่ 49% และยังพบว่าการมาของอินเตอร์เน็ต เป็นต้นเหตุให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนสูงขึ้น ซึ่งผลสำรวจระบุว่าครัวเรือนที่มีสมาชิกใช้อินเตอร์เน็ตเป็นจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าครัวเรือนปกติ 40%

ในพื้นที่ภาคเหนือนั้นปัจจุบันสถานการณ์หนี้ครัวเรือนก็น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ยังมีปัญหาหนี้สิน ทั้งในระบบและนอกระบบ แม้เกษตรกรส่วนใหญ่บางพื้นที่มีรายได้ดีขึ้น แต่จำนวนหนี้ก็ยังไม่ลดลง อาจเป็นไปได้ว่า เกษตรกรมีความเชื่อว่าการกู้เงินเท่าเดิม เป็นการรักษาเครดิตตัวเอง บางรายยังหาทางกู้เงินจากหลายแหล่ง โดยเฉพาะกู้เงินจากสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ไปจ่ายหนี้คืนกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งพบว่าคนในภาคเหนือมักกู้เงินในลักษณะนี้มากกว่าภาคอื่น

นายชนินทร์ กล่าวว่า ธปท.สำนักงานภาคเหนือมีโครงการให้ความรู้ทางการเงิน เกี่ยวกับการก่อหนี้ที่เหมาะสมโดยเน้นไปที่ 2 กลุ่ม คือ นักศึกษาอาชีวศึกษา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เข้าสู่ตลาดแรงงานเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการให้ความรู้มาแล้วในวิทยาลัย 35 แห่ง ในปี 2563 ตั้งเป้าหมายจะเข้าไปให้ความรู้อีก 30 แห่ง และกลุ่มเริ่มทำงานใหม่ 1-5 ปี ที่ปีหน้าจะเริ่มเปลี่ยนรูปแบบจากการเข้าไปให้ความรู้ในสถานประกอบการ เป็นดึงแกนนำของสถานประกอบการเข้ามารับความรู้แล้วนำไปเผยแพร่ความรู้ในองค์กรต่อไป


ความเป็นมา

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เริ่มต้นแปรแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามพระราชดำริมาสู่การปฏิบัติ ด้วยโครงการบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ พื้นที่แรก เนื่องจาก “น่าน” เป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในเชิงภูมิศาสตร์ เพราะเป็นต้นน้ำน่าน หัวใจสำคัญของระบบน้ำในประเทศไทย (ร้อยละ 45 ของแม่น้ำเจ้าพระยา) แต่ “น่าน” ต้องเผชิญกับปัญหารุกเร้ารุนแรง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องมานานหลายปี จากการที่ป่าต้นน้ำน่านถูกบุกรุกแผ้วถางเผาทำลายเพื่อการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยสาเหตุจากความยากจนและการขาดโอกาส

เป็นที่มาของอากาศเสียเพราะหมอกควัน จากการเผาเตรียมพื้นที่การเกษตร น้ำปนเปื้อนและดินเสื่อมด้วยสารตกค้าง จากการใช้เคมีการเกษตรเข้มข้น สุขภาพเสื่อมโทรมด้วยสารพิษในเลือดสูงกว่าระดับปกติธรรมดา และแนวลุ่มน้ำเกิดอุทกภัยรุนแรงซ้ำซาก

พื้นที่จังหวัดน่าน 7,170,075 ไร่ ทำการเกษตรได้เพียง 1,090,294 ไร่ หรือร้อยละ 15.20 ทำให้ชาวน่านต้อง ซื้ออาหารจากภายนอกถึงปีละ 1,286 ล้านบาท

ปัญหาที่สั่งสมเหล่านี้ทำให้คนน่านมีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ มีหนี้สินสูงถึง 127,524 บาทต่อครัวเรือน และทำให้ “น่าน” เป็นจังหวัดที่มีภาวะความยากจนสูง มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรต่ำเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ สัดส่วนคนจน สูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรในจังหวัด เป็นลำดับที่ 2 ของภาคเหนือ และลำดับที่ 3 ของประเทศ

แต่จังหวัดน่านมีเครือข่ายชุมชน ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาหลายด้าน ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีข้อมูลเป็นระบบเพียงพอที่จะช่วยให้แก้ไขปัญหาเชิงระบบได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ปิดทองหลังพระฯ จึงเลือกจังหวัดน่านเป็นพื้นที่นำร่อง และเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 เป็นต้นมา

Source : มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ