onlinenewstime.com : ผลการศึกษาคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย ประจำปี 2562 โดย เจ.ดี. พาวเวอร์ (J.D. Power 2019 Thailand Initial Quality StudySM (IQS)) เปิดเผยว่า เจ้าของรถยนต์ในประเทศไทย ประสบปัญหาจากการใช้รถยนต์คันใหม่ของพวกเขาเพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว ซึ่งปัญหาจำนวนมากเกี่ยวข้องกับการออกแบบและจากความผิดพลาดในการผลิต
คุณภาพรถยนต์ใหม่ วัดจากจำนวนปัญหาที่พบต่อรถยนต์ใหม่ 100 คัน (PP100) ในช่วง 2 ถึง 6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยรถยนต์รุ่นใดที่ได้คะแนน PP100 ต่ำกว่า แสดงว่ารถรุ่นนั้นมีคุณภาพที่สูงกว่า
ในการศึกษาปีนี้ คะแนนเฉลี่ยของอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นเป็น 81 PP100 จาก 70 PP100 ในปีที่ผ่านมา โดยปัญหาต่างๆ ที่พบใกล้เคียงกัน ระหว่างปัญหาด้านการออกแบบ (38 PP100) และปัญหาจากความผิดพลาดในการผลิต (37 PP100)
ในภาพรวมแล้ว ปัญหาเสียงรบกวนต่างๆ คิดเป็นสัดส่วน 24% (19.6 PP100 โดยรวม) ของปัญหาทั้งหมดที่พบในปีนี้ และเป็นปัญหาที่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่พบมากที่สุด ซึ่งปัญหาเสียงรบกวนนี้ หมายรวมถึงปัญหาเสียงลมและเสียงบดถนนดังมากเกินไป (8.0 และ 1.5 PP100 ตามลำดับ) และปัญหาเสียงรบกวน, เสียงกอกแกก และเสียงผิดปกติอื่นๆ ภายในรถยนต์ (3.6 PP100 โดยรวม)
สำหรับกลุ่มปัญหาจากประสบการณ์การขับขี่ พบปัญหาสูงสุด จากเสียงผิดปกติจากช่วงล่างและเบรกมีเสียงดัง (1.5 และ 1.0 PP100 ตามลำดับ)
ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเสียง ได้แก่ เครื่องยนต์และเกียร์มีเสียงผิดปกติ (1.5 PP100) และปัญหาเบาะที่นั่งมีเสียงรบกวน, เสียงกอกแกก หรือมีเสียงผิดปกติ (1.4 PP100)
“ฝ่ายออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และฝ่ายผลิตของบริษัทรถยนต์ จำเป็นต้องประสานความร่วมมือกัน ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเสียงรบกวน จากส่วนต่างๆ ของรถยนต์”
ศิรส สาตราภัย ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค เจ.ดี. พาวเวอร์ ประจำประเทศไทยและประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ลูกค้าในปัจจุบัน มีความรู้สึกที่ไวต่อเสียงรบกวน ที่มาจากส่วนต่างๆ ของตัวรถ แบรนด์รถยนต์ ต้องสามารถที่จะวิเคราะห์ และระบุถึงสาเหตุของปัญหาอย่างแม่นยำ เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ทางด้านคุณภาพโดยรวมของแบรนด์ ให้ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมที่ได้จากการสำรวจประจำปี 2562
- ปัญหาภายในรถยนต์ได้รับการรายงานมากที่สุด: กลุ่มปัญหาภายในรถยนต์พบมากที่สุดถึง 20.2 PP100 (เพิ่มขึ้น 8.0 PP100 จากปี 2561) หนึ่งในปัญหาหลัก คือ ที่วางแก้วใช้งานยาก (4.2 PP100) และมีเสียงดัง (1.3 PP100) นอกจากนี้ ลูกค้ายังระบุถึงปัญหา เกี่ยวกับช่องเก็บของด้านหน้า (ใช้งานยาก, 2.6 PP100) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 0.1 PP100 ในปี 2561
- ด้านเครื่องเสียง, ระบบความบันเทิง และระบบนำทาง ได้รับการปรับปรุงในหลายๆ ด้าน: ลูกค้ารายงานถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบข้อมูล และความบันเทิงในรถยนต์ลดน้อยลง (9.2 PP100 ซึ่งดีขึ้น 3.9 PP100 จากปีก่อนหน้า) ทว่าปัญหาการรับสัญญาณวิทยุ ยังคงเป็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดในกลุ่มนี้ แม้ว่าจะมีการปรับปรุงที่ดีขึ้น 4.6 PP100 จากปีที่แล้ว
- จำเป็นต้องปรับปรุงปัญหากลิ่นภายในตัวรถ: กลิ่นไม่พึงประสงค์ ภายในห้องโดยสารยังคงเป็นปัญหาที่พบสำหรับลูกค้า และเป็น 1 ใน 5 ปัญหาแรกที่ยังพบจากการสำรวจในปีนี้
ผลการจัดลำดับจากการศึกษาวิจัย
- โตโยต้า ยาริส ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก (62 PP100)
- ฮอนด้า แจ๊ส ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น (65 PP100)
- มาสด้า3 ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง (76 PP100)
- เอ็มจี แซดเอส ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดเล็ก (68 PP100)
- โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่ (74 PP100)
- โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ สมาร์ท แค๊ป ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถกระบะตอนขยาย (79 PP100)
- ฟอร์ด เรนเจอร์ ไฮ-ไรเดอร์ ดี-แค๊ป ได้รับอันดับสูงสุดในกลุ่มรถกระบะ 4 ประตู (73 PP100)
การศึกษาในครั้งนี้ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับ 2 กลุ่มปัญหาหลัก ที่เจ้าของรถยนต์ใหม่ประสบ ได้แก่ กลุ่มปัญหาด้านการออกแบบ และกลุ่มปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดในการผลิต
การศึกษานี้ ได้เจาะถามถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 8 หมวดหมู่ ได้แก่ ปัญหาภายนอกรถยนต์; ปัญหาจากประสบการณ์การขับขี่; ปัญหาจากอุปกรณ์/ปุ่มควบคุม/จอแสดงผล; ปัญหาเครื่องเสียง/ระบบสื่อสาร/ระบบความบันเทิง/ระบบนำทาง; ปัญหาจากเบาะที่นั่ง; ปัญหาจากระบบทำความร้อน/ระบบระบายอากาศ/ระบบความเย็น; ปัญหาภายในห้องโดยสาร และปัญหาเครื่องยนต์/ระบบเกียร์
ผลการศึกษาคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย (IQS) ประจำปี 2562 ได้จากการประเมินคำตอบของเจ้าของรถยนต์คันใหม่ 6,632 ราย ที่ซื้อรถยนต์ในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ถึงเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวน 66 รุ่น จากทั้งหมด 10 ยี่ห้อ โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนสิงหาคม 2562