Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

ผลักดันแก้กฎหมาย อนุญาตใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล เพื่อลดพลาสติกเกิดใหม่

Onlinenewstime.com :  ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เข้าพบ นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข- เพื่อหารือแนวทาง ในการร่วมผลักดันปรับปรุงกฏหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการนำพลาสติกรีไซเคิล Recycled PET (rPET) มาใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้

พร้อมเผยผลวิจัยโดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่าประเทศไทยสามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ หากใช้แนวทางการประเมินความปลอดภัย ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น แนวทางของสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรป

ร่วมกับการมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตต้องผ่านการทดสอบ เพื่อพิสูจน์ว่า กระบวนการผลิต สามารถขจัดสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางกลุ่มฯ เชื่อมั่นว่าแนวทางดังกล่าว จะช่วยลดการใช้พลาสติกเกิดใหม่ ส่งเสริมการรีไซเคิล และแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน  

จากการที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ได้ขานรับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางในการส่งเสริม ให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีข้อห้ามตามกฎหมายนั้น นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายก และ ประธานกรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ได้เปิดเผยว่า

“จากการทำงานในช่วงที่ผ่านมา สมาคมฯ พบว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง ยังไม่มั่นใจถึงผลกระทบด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค สืบเนื่องจากประเทศไทย ยังไม่มีการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไปอย่างเป็นระบบ และผู้บริโภคส่วนหนึ่ง นำเอาขวดเครื่องดื่มที่ใช้แล้ว ไปบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food products)  ทำให้เกิดข้อกังวล ว่าจะเกิดการปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

ฉะนั้น สมาคมฯ จึงสนับสนุนให้สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาวิจัย เพื่อประเมินความปลอดภัยในเรื่องนี้  ซึ่งน่ายินดีที่ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า พฤติกรรมการใช้ขวด PET ซ้ำของคนไทย มิได้น่าเป็นห่วงอย่างที่คิดกัน หากภาครัฐสามารถปรับเปลี่ยนกฎหมาย ให้มีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยที่ชัดเจน รวมถึงกำกับดูแลให้ผู้ผลิตทุกราย ต้องผ่านการทดสอบ เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่ากระบวนการผลิตขวดจากพลาสติกรีไซเคิล สามารถขจัดสิ่งปนเปื้อนได้ ก็จะช่วยลดการใช้พลาสติกเกิดใหม่ และส่งเสริมการรีไซเคิลให้มากขึ้นอีกด้วย”

ผศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการการศึกษาข้อมูลสำหรับการประเมินความปลอดภัย เพื่อใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก กล่าวถึงรายงานผลการศึกษาว่า ทางคณะผู้วิจัย ได้สำรวจพฤติกรรมการนำขวดเครื่องดื่มไปใช้หลังการบริโภคของคนไทย ที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อน พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ 70% มักนำขวด PET มาใช้ซ้ำ โดยเติมน้ำดื่มหรือเครื่องดื่ม (69%)  

สำหรับประเด็นสารอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร ที่อาจปนเปื้อนในขวด PET นั้น เห็นว่า ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยี ที่สามารถกำจัดสารปนเปื้อนเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยสำหรับการนำกลับมาบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งรายงานฉบับนี้ ได้มีการแนะนำแนวทาง การกำหนดค่าประเมินความปลอดภัยไว้แล้ว

ทั้งนี้ เสนอว่าในเบื้องต้นผู้ผลิตรีไซเคิลพลาสติก (rPET) ควรมีการควบคุมแหล่งที่มา (Feedstock) และประเภทของพลาสติกที่จะนำมารีไซเคิล เพื่อผลิตเป็นขวดเครื่องดื่ม และภาชนะบรรจุอาหาร โดยจะต้องสามารถแสดงที่มาของพลาสติก ผลการทดสอบการกำจัดสารปนเปื้อน ในกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งอ้างอิงแนวทางการประเมินความปลอดภัยและการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก rPET ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (USFDA) หรือหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority – EFSA)

ขณะนี้ทางสถาบันฯ ได้นำเสนอข้อเสนอ (ร่าง) แนวทางการประเมินความปลอดภัย และการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกสำหรับประเทศไทยดังกล่าว ให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคณะทำงานของ อย.  เพื่อใช้เป็นแนวทางพิจารณาแก้ไข ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุ ที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” ทั้งนี้เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้สามารถใช้ขวดบรรจุเครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล (Recycled PET) ได้

นายสมศักดิ์ สิทธิชาญคุณะ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกฯ มุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วม ในการช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกปี 2561-2573 ของรัฐบาล ที่ต้องการนำขยะพลาสติก กลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ภายในปี 2570 โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy  ไปปรับใช้ มุ่งเน้น “Reduce-Reuse-Recycle” เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจในประเทศไทย

ซึ่งการรีไซเคิล ถือเป็นหัวใจหลัก ดังนั้นหากมีการผลักดัน ให้เกิดการนำพลาสติกรีไซเคิลกลับมาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่ม ก็จะเป็นการลดขยะพลาสติกได้อย่างแท้จริง  เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม มีการใช้พลาสติกประเภท PET เป็นจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วน 80-90% ของปริมาณการใช้พลาสติก PET ทั้งหมด ซึ่งในหลายๆ ประเทศได้มีการนำพลาสติกรีไซเคิล (rPET) มาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มได้สำเร็จแล้ว

แต่ว่าในประเทศไทย ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีข้อห้ามตามกฎหมาย  ทั้งที่เรามีโรงงานผู้ผลิตพลาสติกรีไซเคิล (rPET) และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัยได้มาตรฐานระดับสากล กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกฯ จึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การเปิดโอกาส ให้สามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม จะเป็นการลดขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว และเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาล ได้วางโรดแมปไว้ในการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”

สำหรับโครงการศึกษาประเมินความปลอดภัย เพื่อใช้ในการประเมินประสิทธิภาพ ของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก พร้อมการสำรวจพฤติกรรมหลังการบริโภคของผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งจัดทำโดยสถาบันโภชนการ มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย โดยการสนับสนุนจาก กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ร่วมกับ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส

Exit mobile version