Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

พื้นที่ต้นแบบ อพท. รายได้โตกว่า 20% “พิพัฒน์” ย้ำจุดยืนท่องเที่ยว พร้อมขึ้นแท่นกระทรวงเศรษฐกิจ

www.onlinenewstime.com : “พิพัฒน์” มั่นใจ อพท. เติมเต็มพัฒนาซับพลาย ป้อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตแบบยั่งยืน เผยปี 2562 พื้นที่ต้นแบบชุมชน มีรายได้เพิ่มร้อยละ 20.14  ใช้ท่องเที่ยวช่วย เกิดการกระจายรายได้ (Gini) เฉลี่ย 0.315  ด้วยหลักการทำงานผ่าน 2 องค์ความรู้หลักคือ GSTC และ CBT Thailand  พัฒนาชุมชนทำท่องเที่ยวยั่งยืน

ในพิธีเปิดงานประชุมสัมมนา DASTA Forum 2019  “มองมิติใหม่เพื่อการท่องเที่ยวไทยที่ยั่งยืน” นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า  ตามที่ได้มอบนโยบายให้แก่หน่วยงานในสังกัด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำหรับเป็นแนวทางการดำเนินงาน คือ  ความปลอดภัย (Safety) ความสะอาด (Green) ความเป็นธรรม (Fair) และกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ(Sustainability)

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. แม้เป็นหน่วยงานที่เพิ่งเข้ามาในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ในการทำงาน อพท. ถือเป็นหน่วยงานสำคัญ  เป็นหน่วยงานต้นน้ำ ที่เข้ามาเติมเต็มการทำงานด้านการท่องเที่ยว

ด้วยภารกิจการพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้กับ ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นฐานสำคัญ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย มีศักยภาพและขีดความสามารถ ในการรองรับนักท่องเที่ยว เป็นฐานสำคัญที่จะทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทย เติบโตอย่างยั่งยืน ส่วนหน่วยงานกลางน้ำคือกรมการท่องเที่ยว และปลายน้ำคือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ที่ทำการตลาด  

สร้างซัพพลายการท่องเที่ยวมั่นคง

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ในปีนี้คาดการณ์ว่า จะมียอดรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3.38 ล้านล้านบาท ดังนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  

รัฐบาลกำหนดเป้าหมาย ไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ให้มีสัดส่วน 22% ต่อ GDP ในปี 2565 และเพิ่มขึ้นเป็น 30% ต่อ GDP ในปี 2580 แต่ทุกวันนี้ แม้รายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีความยั่งยืน  เป็นภาพของการเติบโตเฉพาะฝั่ง Demand แต่ปัจจัยทางด้าน Supply กลับไม่มั่นคง

อพท. ทำหน้าที่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ให้มีคุณภาพ สร้างต้นแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และการท่องเที่ยวโดยชุมชน  โดยต้องออกแบบและวางแผนการพัฒนา ให้เป็นไปตามกรอบความยั่งยืนของทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการทำงาน ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้

“จากการทำงานตามซัพพลายเชน โดยมี อพท. เป็นหน่วยงานปูรากฐาน ให้กับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อส่งต่อให้กรมการท่องเที่ยว และ ททท. ไปนำเสนอขาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงตั้งเป้าหมาย ผลักดันความสำคัญของกระทรวงการท่องเที่ยว ก้าวสู่การเป็น กระทรวงเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ

ปัจจัยที่จะสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว คือ การมีหน่วยงานอย่าง อพท.  ที่สามารถพัฒนาจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรม และชุมชน ให้มีการบริหารจัดการที่ดี การท่องเที่ยว จึงเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน เกิดการสืบสาน เกิดเป็นความสุข และรอยยิ้ม ของผู้คน ที่พร้อมจะผนึกกำลัง นำพาท่องเที่ยวของประเทศไทย ก้าวสู่การเป็นหนึ่งในการแข่งขันระดับโลก

ใช้ท่องเที่ยวเพิ่มเงินในกระเป๋าให้ชุมชน

นายทวีพงษ์  วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า  จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ อพท. สามารถนำเสนอผลการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2562 ที่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวต่อไปนี้

  1. ด้านความปลอดภัย (Safety) ได้ดำเนินการพัฒนาระบบการดูแลรักษาความปลอดภัย ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม และการพัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัย และให้บริการแก่นักท่องเที่ยวตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  2. ด้านความสะอาด (Green) ได้ดำเนินโครงการ ส่งเสริมสถานประกอบการโรงแรม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีสถานประกอบการได้รับรางวัล Green Hotel จำนวน 23 แห่ง 
  3. ด้านความเป็นธรรม (Fair) ได้ดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ (Tourism for all) และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ในการพัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ เป็นต้น
  4. ด้านการกระจายรายได้สู่ชุมชน และลดความเหลื่อมล้ำ (Sustainability) ได้ดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ส่งผลให้ชุมชน มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น และดัชนีการกระจายรายได้ (Gini) เฉลี่ย 0.315 ซึ่งเป็นค่าที่ดีกว่าการกระจายรายได้ของทั้งประเทศ  เป็นตัวเลขที่ยืนยันว่า ท่องเที่ยวสามารถเป็นกลไกสำคัญ ในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ให้กับชุมชนได้จริง

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการยืนยันการดำเนินงาน และความสำเร็จของ อพท. ในงาน DASTA Forum 2019 ยังได้มีการจัดนิทรรศการ แสดงผลการดำเนินงานของ อพท. ที่น่าสนใจ อาทิ การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเราได้ใช้ “ใจ” มารวมเป็นพลัง ในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ CBT Thailand  มีชุมชนต้นแบบในการพัฒนามากกว่า 40 ชุมชน

การพัฒนาการท่องเที่ยว ภายใต้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC การพัฒนาความร่วมมือการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้โครงการ “สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง”

และการส่งเสริมกิจกรรม ที่ก่อให้เกิดรายได้ชุมชนในพื้นที่พิเศษ ซึ่งผลการจัดเก็บข้อมูลปี 2562  ชุมชนที่ อพท. เข้าไปพัฒนา มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.14 และผ่านเกณฑ์ระดับความอยู่ดีมีสุข ที่ อพท. กำหนดร้อยละ 87.59

จากการนำเสนอข้อมูล ที่กล่าวมาข้างต้นในวันนี้ ถือเป็นการเปิดมุมมอง การพัฒนารอบด้านของ อพท. ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ทั้งเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยกระบวนการทำงาน ที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย อันจะนำไปสู่การพัฒนา การท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืน และสร้างความสุขที่แท้จริง ให้กับชุมชนในพื้นที่พิเศษ และนักท่องเที่ยวในอนาคตต่อไป

Exit mobile version