onlinenewstime.com : แทบทุกคนคงมีภาวะหมดไฟในการทำงาน เหนื่อยล้า และไม่อยากไปต่อ ในหลายๆจังหวะของชีวิต ซึ่งแต่ละคน มีวิธีผ่านเหตุการณ์เหล่านั้น ในแบบที่ต่างกันไป ไม่ว่าจะพัก สู้ต่อ หรือหนีจากปัญหาไปชั่วคราวและถาวร
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ความตึงเครียดในการทำงาน ทวีความรุนแรงขึ้น จากปัจจัยภายนอกที่มากระทบอยู่อย่างต่อเนื่อง จนภาวะการหมดไฟ กลายเป็นวาะที่ต้องทบทวนทางสุขภาพกันอย่างจริงจัง เมื่อกรมควบคุมโรค ได้ออกเตือนประชาชน ที่เครียดจากการทำงาน หรือการทำงาน ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย อาจเกิดภาวะโรคหมดไฟจากการทำงานได้
หลังจากที่องค์การอนามัยโลก กำหนดให้ ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ (Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษา ในทางการแพทย์ โดยมีคำแนะนำ ในการจัดการภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ 2 ด้าน คือ 1. ด้านการจัดการกับตัวเอง และ 2. การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประชุมองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยมติที่ประชุม พิจารณาให้ ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ (Burnout) เป็นภาวะ ที่ต้องได้รับการรักษา “ในทางการแพทย์” เป็นครั้งแรก ในคู่มือวินิจฉัย และจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ (ICD-11) เพื่อให้เป็นมาตรฐาน ในการวินิจฉัยโรค และการประกันสุขภาพใหม่ทั่วโลก ซึ่งกรมควบคุมโรค จะได้หารือวางแผน เพื่อพิจารณาระบบเฝ้าระวัง และบูรณาการ กับกรมสุขภาพจิต ในการควบคุมและป้องกันโรคต่อไปในอนาคต
ลักษณะอาการ ที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ
- รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย
- มีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงาน หรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน
- ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าว เป็นผลมาจากความเครียดในการทำงาน หรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จ ตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยง ที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น
นพ.สุวรรณชัย เสริมว่า ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน อาจเกิดจากปัญหาด้านสุขภาพจิต ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สภาพแวดล้อม และการจัดการขององค์กร ทักษะและความสามารถของพนักงาน ในการจัดการปัญหา ความไม่สมดุลระหว่างงาน กับชีวิตส่วนตัว รวมทั้งการสนับสนุนขององค์กร
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต และเป็นสาเหตุของอาการผิดปกติทางจิต หรือนำไปสู่ การใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติด
การรังแก และการคุกคามทางจิตวิทยา ก็เป็นสาเหตุของความเครียด ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนงาน ส่งผลต่อปัญหาทั้งทางจิตใจ และร่างกาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีการจัดการ กับภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ 2 ด้าน
ด้านการจัดการกับตัวเอง
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน
- ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือช้อปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง
- พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรง หรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้
ด้านการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (คำแนะนำของ WHO)
- ปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์ และนโยบายของผู้บริหาร
- สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพ ให้พนักงานอย่างชัดเจน
- สร้างการมีส่วนร่วม ในการตัดสินใจของพนักงาน
- นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจ ของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422