Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

ม.มหิดล ริเริ่มเรียนแล็บออนไลน์ ท้าทายโลกของการเรียนรู้ด้วยตนเอง

Onlinenewstime.com : วิกฤติ Covid-19 ทำให้ทุกสถาบันการศึกษา จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนแบบปฏิบัติการ (lab) ออนไลน์ นับเป็นหนึ่งในความท้าทายที่จำเป็นในช่วงวิกฤตินี้ ซึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเภสัชศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการสร้างเสริมทักษะพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อไม่ให้นักศึกษาขาดช่วงฝึกปฏิบัติ จึงได้ริเริ่มออกแบบ “การเรียนแล็บออนไลน์” ต้อนรับการเปิดภาคการเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2563 นี้

รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ระลอกใหม่ คณะฯ ได้ตัดสินใจและแจ้งให้นักศึกษาทราบ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ว่า การเรียนในภาคการเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2563 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564 จะดำเนินการผ่านการเรียนออนไลน์ทั้งหมด จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

แต่ความท้าทายที่สุดของการเรียนออนไลน์ คือ วิชาปฏิบัติการ ซึ่งปกติเป็นการเรียนในห้องปฏิบัติการ กับเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักศึกษาได้ลงมือทำ และเสริมสร้างให้เกิดทักษะ (skills) จากความรู้ที่ได้เรียนในทางทฤษฎี จากการระดมสมองหารือกันภายในคณะฯ จึงได้ออก 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่

1. การจัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบปฏิบัติการ (lab) ออนไลน์ ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรจตุรงค์ ประเทืองเดชกุล หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา ได้เป็นแกนนำ ในการริเริ่มส่งอุปกรณ์เรียนแล็บออนไลน์ให้นักศึกษาทางไปรษณีย์ ให้นักศึกษาได้ทดลองประกอบการศึกษาคู่มือ และคลิปวิดีโอการสอน เพื่อฝึกทักษะขั้นพื้นฐาน

2. ปรับลำดับของหัวข้อการเรียนปฏิบัติกา รที่ต้องใช้เครื่องมือขนาดใหญ่และสำคัญกับทักษะวิชาชีพไปไว้ช่วงปลายเทอม ซึ่งเมื่อสถานการณ์การระบาดดีขึ้น นักศึกษาจะได้เข้ามาใช้เครื่องมือเหล่านั้นได้  

3.เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น และได้กลับมาเรียนตามปกติ จะจัดให้มีการทำแล็บซ้ำ เพื่อทบทวนและเสริมทักษะของนักศึกษาโดยเฉพาะทักษะที่สำคัญของวิชาชีพ

“ขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นในมาตรการที่ทางมหาวิทยาลัยมหิดล กำหนดให้คณะเภสัชศาสตร์ และทุกคณะจำเป็นต้องเรียนออนไลน์ เนื่องจากเราคำนึงถึงความปลอดภัยของนักศึกษาและครอบครัว รวมถึงทุกคนในสังคมไทยเป็นประการสำคัญ

ซึ่งการเรียนออนไลน์ จะทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกทักษะพื้นฐานได้ด้วยตนเอง เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ โดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อให้ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ได้ประโยชน์มากที่สุด” รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรจตุรงค์ ประเทืองเดชกุล หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า แรกทีเดียวทางภาควิชาฯ ตั้งใจจะให้นักศึกษา ได้ศึกษาจากคลิปวิดีโอการสอนทั้งหมดก่อน แล้วจึงให้ฝึกปฏิบัติหลังสถานการณ์ Covid-19 ดีขึ้น แต่เกรงว่านักศึกษา จะไม่ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ จึงได้จัดการเรียนการสอนแบบปฏิบัติการออนไลน์โดยวิธีการสาธิต (lab demonstration) ที่ให้นักศึกษาได้ลงมือทำไปพร้อมกับอาจารย์ แล้วประเมินผล โดยให้นักศึกษาส่งคลิปวิดีโอที่ได้ฝึกทดลอง กลับมายังอาจารย์ผู้สอน

โดยมีการส่งอุปกรณ์การฝึกปฏิบัติให้นักศึกษาทางไปรษณีย์ รวมทั้งให้นักศึกษา ได้ประยุกต์ใช้จากสิ่งที่หาได้รอบตัว และได้มีการขยายผลรูปแบบการเรียนแล็บออนไลน์สู่ภาควิชาอื่นๆ ของคณะฯ ด้วย

ซึ่งการศึกษาทางจุลชีววิทยา เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อจุลชีพ ไม่สามารถจัดส่งได้ทางไปรษณีย์ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตราย เราจึงได้ให้นักศึกษาใช้ตัวช่วยจากการเตรียมสารสมมุติที่ทำขึ้นเองง่ายๆ จากการนำเอาแป้งฝุ่นมาผสมน้ำปริมาณเล็กน้อย เพื่อให้เป็นสารละลายที่มีความขุ่นใช้แทนเชื้อจุลชีพจริง และฝึกเทคนิคการเตรียม smear บน glass slide หรือฝึกเทคนิคการ streak plate บนวุ้นในจานเพาะเชื้อพลาสติก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอัญชลี จินตพัฒนากิจ อาจารย์ผู้อำนวยการสอนวิชาปฏิบัติการเภสัชการ 3 ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ในการจัดการเรียนการสอน จะเป็นการเตรียมตำรับยา ที่นักศึกษาต้องใช้ในการสอบใบประกอบโรคศิลป์ ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในครัวเรือนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแก้วน้ำที่สามารถนำมาใช้แทนบีกเกอร์ ตะเกียบหรือหางช้อน ที่สามารถนำมาใช้แทนแท่งคนสารละลาย หรือแม้กระทั่งเจล ซึ่งสามารถเตรียมได้จากวุ้นหรือเจลาติน ฯลฯ

เมื่อนักศึกษาได้กลับเข้ามาเรียนที่คณะฯ จะได้มาเตรียมตำรับจริง เพื่อดูขั้นตอนการผสมยาว่า ถ้ามีสารหลายตัวจะมีลำดับในการเติมอย่างไร ซึ่งการเรียนแล็บออนไลน์ จะบอกถึงเทคนิคพื้นฐานที่นักศึกษาต้องฝึกทำให้คล่องที่บ้าน โดยมีการกำหนดว่ายาตำรับใดที่ นักศึกษาจะต้องทำเป็น และจะให้นักศึกษาได้กลับมาฝึกทำซ้ำที่คณะฯ เพื่อใช้ในการสอบใบประกอบโรคศิลป์ต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงปัทมพรรณ โลมะรัตน์ หัวหน้าภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นักศึกษาเภสัชศาสตร์ นอกจากความรู้เรื่องยาแล้ว การมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องอาหาร ทั้งด้านคุณภาพของอาหารและความปลอดภัยของอาหาร จะทำให้นักศึกษาสามารถดูแลผู้ป่วย/ประชาชน ดูแลตนเองและคนในครอบครัวได้แบบองค์รวม

โดยจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบ วิเคราะห์ และควบคุมคุณภาพอาหาร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในการเรียนแล็บออนไลน์ได้มีการส่งชุดทดสอบ หรือ test kit ที่หาซื้อได้โดยทั่วไป และมีราคาไม่แพง ให้นักศึกษาได้ทดลองใช้ด้วยตนเองที่บ้าน เช่น ชุดทดสอบสารฟอร์มาลีนในอาหาร ซึ่งมักพบมากในถั่วงอก ที่ขายตามท้องตลาดโดยทั่วไป ที่ทำให้ถั่วงอกขาวน่ารับประทาน นักศึกษาสามารถใช้ช้อนที่มีอยู่แล้วในครัวสับถั่วงอกตัวอย่าง แล้วนำมาทดสอบกับ test kit ที่ทางคณะฯ ส่งไปให้นักศึกษาตัวแทนกลุ่ม ได้เปิดกล้องและทดลองทดสอบจริง ให้เพื่อนนักศึกษาในชั้นเรียนออนไลน์ ได้วิเคราะห์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งนักศึกษา จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปได้อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เดิมปีนี้กำหนดให้เป็นปีแรกของหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต พ.ศ. 2563 ที่จะให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เรียนวิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ ที่ โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งปรับจากหลักสูตรเดิมที่จัดให้เรียนในชั้นปีที่ 3

แต่เนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 จึงจำเป็นต้องปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์ และจัดกิจกรรมเสริมโดยส่งเมล็ดพันธุ์พืชสมุนไพรชุมเห็ดไทยทางไปรษณีย์ เพื่อให้นักศึกษาได้ทดลองปลูก และเตรียมวัตถุดิบ สำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเอง พร้อมสังเกตและบันทึกพัฒนาการของพืชสมุนไพรชนิดดังกล่าว และแชร์ในชั้นเรียนออนไลน์กับเพื่อนๆ

ชุมเห็ดไทยจะงอกภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากเพาะเมล็ด และโตเต็มที่พร้อมติดดอกออกผล ในระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนเศษ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเรียนการสอน ที่จัดลำดับเนื้อหา เริ่มจากสัณฐานวิทยาของพืชส่วนต่างๆ ไปจนถึงกระบวนการระบุชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชตามหลักพฤกษศาสตร์

นอกจากนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากพืชจริง เปรียบเทียบกับเนื้อหาบรรยายแล้ว การจัดการเรียนการสอนครั้งนี้ ยังเป็นการจัดกิจกรรมที่ช่วยสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษา และเกิดความรักธรรมชาติ ซึ่งจะสอดคล้องกับ Environmental Literacy ที่มหาวิทยาลัยมหิดลกำหนดไว้

อย่างไรก็ดี หลังจากสถานการณ์ Covid-19 คลี่คลายแล้ว นักศึกษาจะสามารถเข้ามาเรียนรู้พืชสมุนไพรที่โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล รวบรวมในรูปแบบของ living collection มากกว่า 700 ชนิด เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ด้านพืชสมุนไพร และสามารถนำความรู้ไปใช้ในวิชาชีพเภสัชกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

Exit mobile version