fbpx
News update

ม.มหิดล วิจัยลดติดเชื้อดื้อยาในรพ. มุ่งเป้ารักษาตรงจุด

Onlinenewstime.com : โรคอุบัติใหม่เกิดมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งรวมถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ปัจจุบันมีตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกสะสมเกือบเข้าสู่หลัก 100 ล้านคน

สาเหตุของโรคติดเชื้อ นอกจากจะเกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแล้ว การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่น่าวิตกเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อแบคทีเรียดื้อยา “คลอสตริเดียม ดิฟฟิซิล” (Clostridium difficile) หรือ “ซีดิฟฟ์” (C. diff) ที่แพร่ระบาดในโรงพยาบาลทั่วโลกในหลายภูมิภาค โดยเป็นประเด็นสำคัญ ที่ได้รับความสนใจจาก องค์การสหประชาชาติ (UN) และ องค์การอนามัยโลก(WHO)

ศาสตราจารย์ ดร.เทวัญ จันทร์วิไลศรี ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยหลัก ที่ได้รับทุนส่งเสริมบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (MU-MRC) ในคลัสเตอร์ “การพัฒนาแนวทางการรักษาแบบใหม่สำหรับการติดเชื้อก่อโรค Clostridium difficile ในโรงพยาบาล” กล่าวว่า ร้อยละ 40 ที่พบการติดเชื้อก่อโรค Clostridium difficile หรือ C. diff ในโรงพยาบาลในประเทศไทย เป็นผู้ป่วยโรคท้องร่วง เนื่องจากการตรวจเชื้อแบคทีเรีย C. diff นั้นทำได้ยาก ต้องใช้เวลากว่าหนึ่งสัปดา ห์เพาะเชื้อแบบไร้อากาศ ทำให้ไม่ทันต่อการรักษา 

ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาอาการเร่งด่วน ซึ่งส่งผลให้เชื้อแบคทีเรีย C. diff ที่อยู่ในลำไส้ มีการเจริญเติบโตแพร่กระจาย จนทำให้ร่างกายผู้ป่วยเสียสมดุลจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงจนกระทั่งเสียชีวิต

เป้าหมายสำคัญของการวิจัย คือ ลดการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย C. diff โดยมุ่งศึกษาที่กลไกการดื้อยา และใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Drug repurposing” จากการใช้ยารักษาการแข็งตัวของเลือด ซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย C. diff มาทดแทนการใช้ยาปฏิชีวน ะที่เข้าไปทำลายแบคทีเรียเจ้าบ้านในลำไส้  (normal gut flora) แต่กลับเป็นตัวเร่งให้เชื้อแบคทีเรีย C. diff เกิดการแพร่กระจาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการดื้อยา 

ด้วยเทคนิค “Drug repurposing” นี้จะช่วยลดระยะเวลาในการคิดค้นยาใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลานาน โดยใช้ยาชนิดอื่น ที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้จริงในมนุษย์มาทดแทน ซึ่งพบว่า ยารักษาการแข็งตัวของเลือด เป็นยาที่สามารถใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย C. diff ในลำไส้ใหญ่ได้ แต่ไม่ส่งผลข้างเคียงดังเช่นยาปฏิชีวนะ

นอกจากนี้ ทีมวิจัย ยังได้มีการทดลองใช้ไวรัสชนิดใหม่มาฆ่าแบคทีเรียก่อโรค และใช้โพรไบโอติกส์ (Probiotics) มาเสริมกำลังแบคทีเรียเจ้าบ้าน โดย ศาสตราจารย์ ดร.เทวัญ จันทร์วิไลศรี ได้กล่าวทิ้งท้าย ถึงทิศทางการวิจัยโรคติดเชื้อในปัจจุบันว่า ไม่ว่าโลกจะมีการพัฒนายาเพื่อจัดการกับเชื้อโรคได้มากเพียงใด แต่กลับพบว่าบรรดาเชื้อโรคต่างๆ นั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงตัวเอง จนทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการดื้อยาได้มากขึ้นเท่านั้น จึงนับเป็นความท้าท้ายที่งานวิจัยโรคติดเชื้อในอนาคต จะมุ่งเป้าเพื่อการรักษาอย่างตรงจุดให้มากขึ้น

ติดตามข่าวสารและงานวิจัยที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ เว็บไซต์