fbpx
News update

รับมือมลพิษ PM 2.5 ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นด้วย “ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ”

www.onlinenewstime.com : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดตัวศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ รับมือวิกฤติฝุ่น PM 2.5 รายงานสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ และพยากรณ์ล่วงหน้า 3 วัน พร้อมจับมือกระทรวงสาธารณสุข ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่โรงพยาบาลทั่วประเทศ 8,000 แห่ง

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติจัดตั้ง ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ (NRCT Air Quality Information Center, NRCT AQIC) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 รวมทั้งสถานการณ์มลพิษทางอากาศ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงปลายปีนี้ และต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า โดยศูนย์เฝ้าระวังฯ เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย กับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก Dustboy

ซึ่งศูนย์เฝ้าระวังฯ จะรายงานสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ที่สำคัญ จะมีการพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า 3 วัน เพื่อแนะนำแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ล่วงหน้า

โดยข้อมูลจะมีความถูกต้องแม่นยำ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างทันท่วงที ผ่านระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ ผ่าน เว็บไซต์ โดยจะแสดงผลคุณภาพอากาศ จากการรวบรวมข้อมูลการรายงานค่าความเข้มข้นฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 จากหลายๆ หน่วยงานทั่วประเทศ รวมจุดติดตั้งประมาณ 800 จุด ซึ่งจะนับเป็นฐานข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน (Single Database) เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลและการรายงานผลคุณภาพ โดยเฉพาะปริมาณ PM2.5, PM10 และ Air Quality Index มีความแตกต่างกันในแต่ละหน่วยงาน/สถานีตรวจวัด ทำให้ขาดการบูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูล

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับศูนย์เฝ้าระวังฯ อย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของความถูกต้องทันสมัยของข้อมูล โดยได้เน้นย้ำว่า จะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมการรับมือ โดยไม่ให้เกิดความตระหนก และให้ศูนย์ฯ นี้ทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ

การติดตั้ง เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก Dustboy ในระยะแรก อว. จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการขยายผลและติดตั้ง ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ และคาดว่าจะติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศได้จำนวน 8,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนตระหนักและเข้าถึงข้อมูล พร้อมทั้งสามารถรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นละอองได้อย่างทันท่วงที

“โครงการระบบคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ ถือเป็นหนึ่งความสำเร็จของโครงการท้าทายไทย (Grand Challenges Thailand) เรื่อง เป็น 1 ใน 4 แพลตฟอร์มสำคัญ ซึ่ง อว.ได้มอบหมายให้ วช. ขับเคลื่อนและขยายผลต่อยอด จากแผนงานวิจัยท้าทายไทย เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การสร้างนวัตกรรม และรูปแบบธุรกิจ ที่สร้างความยั่งยืน ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร. สุวิทย์ กล่าวในที่สุด