Onlinenewstime.com : ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ใหม่ ”โอไมครอน” กำลังสร้างความหวั่นวิตกให้นานาประเทศ ขณะที่การวิจัยพัฒนาวัคซีนและเวชภัณฑ์ยังต้องเดินหน้าคิดค้นไม่หยุดนิ่ง ในสังคมและเศรษฐกิจวิถีใหม่ที่ประเทศไทยต้องอยู่ร่วมกับโควิด 19 สู่การเปิดประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มั่นคงปลอดภัยนั้นทำให้ประชาชนหลายภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานการขนส่งและจัดเก็บเพื่อรักษาคุณภาพของเวชภัณฑ์และวัคซีน จนถึงปลายทางผู้รับและประชาชน
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) ผนึกความร่วมมือกับ สมาคมธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น จัดงานสัมมนา Loghealth Forum เรื่อง “ยกระดับบริหารจัดการโลจิสติกส์โซ่ความเย็น (Cold Chain) ความท้าทายใหม่ของประเทศไทย” เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนตื่นต้วพัฒนาเพื่อรองรับมาตรฐานกำกับดูแลอุตสาหกรรมโซ่ความเย็น ยาและวัคซีน โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะประกาศใช้มาตรฐาน GSDP (Good Storage and Distribution Practise) หลักปฏิบัติที่ดีในการกระจายสินค้าเวชภัณฑ์ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป เพื่อชีวิตและสุขภาพของคนไทย โดยสอดคล้องกับระดับมาตรฐานสากล และองค์การอนามัยโลก
เภสัชกร ดร.สุชาติ จองประเสริฐ ผู้อำนวยการกองยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากปัญหาความหลากหลายของข้อมูลผลิตภัณฑ์ ทั้งผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า ตลอดจนข้อมูลและอุปกรณ์ในระบบโซ่ความเย็น การทำงานของบุคลากรในระบบโซ่ความเย็นที่ยังขาดความรู้ในการจัดเก็บและการขนส่งผลิตภัณฑ์
ดังนั้น ทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงจัดทำมาตรฐานหลักปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยจะประกาศใช้มาตรฐาน GSDP (Good Storage and Distribution Practise) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 นี้ ซึ่งเป็นประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกระจายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2564 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ (พ.ร.บ.ยา 2510) กำหนดวิธีการจัดส่งสินค้าที่ดี Good Distribution Practices (GDP) เพื่อยกระดับการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ในภาคเอกชนจะมีมาตรฐานที่ใช้เป็นหลักในการพัฒนาธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด และภาคประชาชนจะได้รับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานนำไปสู่เป้าหมายสำคัญในมิติคุณภาพความปลอดภัยของผู้ป่วย
รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีแนวโน้มการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมโซ่ความเย็นมากขึ้น มีมูลค่าตลาด 2.6 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตปีละ 8% จากการคำนวณอัตราการเติบโต CAGR (Compound Annual Growth Rate) ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2019 ถึงปี ค.ศ. 2022 เป็นที่ทราบกันดีว่า ประสิทธิภาพของยา วัคซีนรักษาโรค ตลอดจนอุณหภูมิการเก็บรักษา การขนส่งถึงผู้ป่วย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องตระหนักถึง ดังนั้นห่วงโซ่อุปทานความเย็น (Cold Chain) จึงจำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพตามมาตรฐานของประเทศและหลักสากลของ WHO ด้วย แนวทางมาตรฐาน GSDP (Good Storage and Distribution Practise) ซึ่งกำหนดไว้ในข้อกฎหมาย จะเป็นแนวทางสำหรับใช้ในการจัดส่งผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ในห่วงโซ่การกระจายจากผู้ผลิต และการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ตลอดจนการบริจาค อาทิเช่น
ผลิตภัณฑ์ยาที่กำหนดสภาวะควบคุม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาที่ไวต่ออุณหภูมิ ต้องควบคุมสภาวะการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ยาระหว่างการขนส่งให้เหมาะสม ตามสภาวะการเก็บรักษาที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ยา และต้องขนส่งด้วยอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เช่น บรรจุภัณฑ์เก็บรักษาอุณหภูมิ ภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ยา และยานพาหนะที่ควบคุมอุณหภูมิได้ หากมีการนำวัสดุให้ความเย็นมาใช้ในภาชนะบรรจุ จะต้องวางวัสดุให้ความเย็นในตำแหน่งที่ไม่สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ยาโดยตรง และต้องตรวจสอบวัสดุให้ความเย็นให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ทุกครั้ง
ภาชนะบรรจุ บรรจุภัณฑ์และฉลาก ความจุของภาชนะบรรจุ และ บุคลากรของผู้กระจายผลิตภัณฑ์ยา ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ GSDP และต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์ ต้องสะอาด แห้ง และรักษาอุณหภูมิตามกำหนด มีบริเวณแบ่งแยกสำหรับจัดเก็บผลิตภัณฑ์ยา มีป้ายแสดงชัดเจน
การควบคุมอุณหภูมิและสภาวะแวดล้อม โดยจัดทำแผนผังอุณหภูมิ (Temperature Mapping) ของบริเวณจัดเก็บผลิตภัณฑ์ยา พร้อมติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิตามผลการศึกษาแผนผังอุณหภูมิ การจัดเก็บผลิตภัณฑ์ยา ต้องได้รับการออกแบบให้สะอาดมีสุขลักษณะ มีพื้นที่และแสงเพียงพอ ต้องสามารถรักษาระดับอุณหภูมิที่กำหนด จัดจ่ายยาหมุนเวียนตามหลักการ First Expired First Out (FEFO) ส่วน การจัดส่งผลิตภัณฑ์ยา ต้องมีเอกสาร ชื่อและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ รุ่นการผลิต วันสิ้นอายุ ปริมาณผลิตภัณฑ์ที่จัดส่ง ชื่อและที่อยู่ตัวแทนจำหน่าย ชื่อและที่อยู่ของผู้รับ สภาวะการจัดเก็บ และจัดให้มีบันทึกว่าจัดส่งไปที่ใด
รวมทั้งกำหนดรายละเอียดขั้นตอนวิธีปฏิบัติ การเรียกคืนผลิตภัณฑ์ ได้ทันทีและตลอดเวลา สามารถสอบย้อนกลับได้ ตลอดจน การกระจายและขนส่งสินค้า
คุณณัฐภูมิ เปาวรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น กล่าวว่าผู้ให้บริการคลังและโลจิสติกส์ยินดีให้ความร่วมมือสนับสนุนมาตรฐาน GSDP เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน สำหรับ เมกะเทรนด์แนวโน้มการพัฒนาของห้องเย็น (Cold Storage) ในประเทศไทย มี 3 ประการ คือ
1. Robotic & Automation ผู้ให้บริการโลจิสติกส์มีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และอัตโนมัติในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความถูกต้อง แม่นยำ โดยเฉพาะในวงการอาหารและยาสำคัญมาก เพราะในการจ่ายสินค้าแต่ละครั้ง ผลิตภัณฑ์เดียวกันแต่หากส่งผิดล็อต จะก่อให้เกิดปัญหาทันที
2. Data-Driven Business ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล ตรวจสอบย้อนกลับได้ และแสดงบน Dashboard เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงในอนาคตได้
3. Pharmaceutical & Healthcare เป็นแนวโน้มสำคัญจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย และโควิด-19 ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น Vaccine at Home ระบบแพทย์ทางไกล
ปัจจัยที่จะทำให้โซ่ความเย็น (Cold Chain) เกิดความสำเร็จ ได้แก่ 1. Certification Standard & Operation Excellence ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ในอนาคตจะต้องผ่านการรับรองด้วยมาตรฐาน GMP & HACCP, ISO 9001, ISO 14001 และ GSDP (Good Storage and Distribution Practise)เพื่อความมั่นใจในระบบบริหารจัดการมีคุณภาพ เป็นต้น 2. การพัฒนานำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น (Smart Warehouse-Cold Storage & Technology) มี เช่น ด้าน Smart Warehouse นำระบบ AI Camera ช่วยแคปเจอร์ภาพ คัดแยกผลิตภัณฑ์ได้ดีกว่าใช้สายตาคน, QR Code & Scanner, ASRS (Automated Storage and Retrieval System) ระบบจัดเก็บและดึงข้อมูลอัตโนมัติ เพื่อความแม่นยำในการจัดเก็บและการหยิบจ่าย, IoT Temperature Sensor เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิอย่างแม่นยำเป็นต้นด้านSmart Transport มีความสำคัญไม้แพ้กัน จะมีการนำ AI Control Tower, Smart GPS Track & Trace เข้ามาช่วยติดตามและควบคุมคุณภาพ Smart Information การเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ สามารถโชว์ข้อมูลบน Dashboard และนำมาใช้วิเคราะห์พัฒนาต่อไปได้