Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

ลดผลกระทบโภชนาการช่วงโควิด หนุนใช้แอปพลิเคชั่น FoodChoice สร้างความรู้

Onlinenewstime.com : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อโภชนาการของเด็กไทยและทุกกลุ่มวัย เนื่องจากใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น กินอาหารที่ไม่หลากหลาย ล่าสุดจัด แอปพลิเคชั่น FoodChoice สร้างความรอบรู้ด้านโภชนาการ ควบคู่กับการยกระดับมาตรฐานด้านความสะอาด และความปลอดภัยทางอาหาร ให้กับอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ณ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแสดงความห่วงใย ต่อภาวะโภชนาการของเด็กไทย เนื่องจากพบทั้งเด็กอ้วนและเด็กขาดสารอาหาร เด็กอ้วนก็พบว่ามีฟันผุ อาจเกิดจากพฤติกรรมการกินในโรงเรียน เช่น ขนมและน้ำหวาน และทรงห่วงใยต่อปัญหาโรคขาดสารอาหาร โดยเฉพาะสารอาหารสำคัญ เช่น ไอโอดีน และธาตุเหล็ก เป็นต้น

จึงเป็นภารกิจของกรมอนามัยที่ ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้ลดน้อยลง ซึ่งจากข้อมูลภาวะโภชนาการของคนไทยพบว่า เด็ก 0-5 ปี มีภาวะเตี้ยร้อยละ 12.9 ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.9 ส่วนเด็กวัยเรียนมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนมากขึ้น ร้อยละ 13.1 และเตี้ยร้อยละ 9.9

ประกอบกับสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโภชนาการของเด็ก เนื่องจากในช่วงเวลานั้น เด็กไม่ได้เข้าโรงเรียน และไม่ได้รับอาหารกลางวันเหมือนเช่นในช่วงสถานการณ์ปกติ และบางครอบครัว ประสบปัญหาในการซื้ออาหาร และใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น

ทำให้การบริโภคอาหารในครอบครัว มีการปรุงประกอบเมนูที่ไม่หลากหลาย หรือมีการบริโภคอาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น รวมถึงมีการสั่งอาหารออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมนูประเภทฟาสต์ฟู้ด เช่น ไก่ทอด เบอร์เกอร์ พิซซา เป็นต้น

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ภายใต้สถานการณ์โรคโควิด 19 ยังพบอีกว่า เด็กทารก เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร นอกจากจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้ว ยังได้รับผลกระบบ ต่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุข รวมถึงการเข้าถึงอาหารด้วย

เช่น เด็กอายุ 0-5 ปี ไม่ได้มารับบริการในคลินิกสุขภาพเด็กดี หรือไม่ได้รับบริการต่อเนื่อง โดยพบว่าความครอบคลุมของการชั่งน้ำหนัก วัดความยาว ส่วนสูง ช่วงไตรมาส 3 ในภาพรวมของประเทศ พบเพียง ร้อยละ 67.9 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดคือ ร้อยละ 90 ซึ่งมีแนวโน้มลดลง ในช่วงที่มีมาตรการควบคุมโรค ทำให้เด็กไม่ได้รับการส่งเสริมด้านโภชนาการ และพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย

 “ทั้งนี้ มาตรการที่กรมอนามัยนำมาใช้ แก้ไขป้ญหาโภชนาการของเด็กไทยและทุกกลุ่มวัย คือการสร้างความรอบรู้ด้านโภชนาการ โดยล่าสุดได้นำแอปพลิเคชั่น FoodChoice มาเป็นเครื่องมือหนึ่ง ในการให้ความรู้ด้านโภชนาการ เพื่อช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจเปรียบเทียบ และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว

สามารถช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ของเด็กและทุกกลุ่มวัย ให้ถูกหลักโภชนาการเพิ่มมากขึ้น

พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และผู้ประกอบการ ด้วยการยกระดับมาตรฐานด้านความสะอาด และความปลอดภัยทางอาหาร ให้กับอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี รวมถึงสถานประกอบการประเภทซุปเปอร์มาเก็ต ร้านอาหาร  ตลาด ภัตตาคาร และร้านอาหารเครื่องดื่ม

ซึ่งเป็นการดำเนินงาน ที่จะช่วยให้เด็กไทย ได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ และพัฒนาการสมวัยที่ดีตามมาด้วย” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

Exit mobile version