Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

วิศวะมหิดล จับมือ NIA เฟ้นหาสตาร์ทอัพใน “Global HealthTech Hackathon Challenges 2019”

www.onlinenewstime.com : ความก้าวหน้าของเฮลท์เทค (HealthTech)เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ ในชีวิตประจำวันและสุขภาพยุคดิสรัพชั่นทั้งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รัฐบาลมุ่งสนับสนุนรับเทรนด์เติบโตของตลาดโลก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม รองรับสังคมสูงวัยและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยในปี 2020 คาดว่ามูลค่าเฮลท์เทค ในตลาดโลกจะสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในประเทศไทยตลาดส่งออกและนำเข้า มีมูลค่าปีละกว่า 1.6 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น

แต่ประเทศไทยยังขาดบุคคลากรสตาร์ทอัพด้านนี้อีกมาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Royal Academy of Engineering แห่งประเทศอังกฤษ จัดแข่งสุดยอดไอเดียเฮลท์เทค Global HealthTech Hackathon Challenges 2019 ณ ศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม (Innogineer Studio) โดยมีผู้สมัครแข่งขันกว่า 200 คน

คุณมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มุ่งผลักดันประเทศไทย ให้เป็น ชาติแห่งสตาร์ทอัพ หรือ Startup Nation โดยมีกรุงเทพมหานครเป็น Global Startup Hub แห่งภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบันนิวยอร์คเป็นศูนย์กลางการเงิน และสตาร์ทอัพของโลก สำหรับประเทศไทย ในปี 2018 มีสตาร์ทอัพเกิดใหม่ จดทะเบียนจำนวน 1,700 ราย ในระบบของ Startupthailand.com

ในการส่งเสริมสตาร์ทอัพเฮลท์เทค ในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) NIA มีเป้าหมายจะพัฒนาผ่านกิจกรรม การบ่มเพาะและเร่งสร้าง โดยจะทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยเครือข่ายด้านการแพทย์และสุขภาพ เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจจากงานวิจัยระดับเชิงลึก ยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพอย่างยั่งยืน

ความร่วมมือจัด Global HealthTech Hackathon 2019 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเฟ้นหาและคัดเลือกแนวคิดธุรกิจ ด้านการแพทย์และสุขภาพ ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ในการเตรียมความพร้อม เข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะสตาร์ทอัพการแพทย์และสุขภาพ

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  เฮลท์เทคเป็นความท้าทายสู่การเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยการนำเทคโนโลยี DeepTech ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ และอื่น ๆ เข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ

ไม่ว่าจะในรูปแบบ ดาต้าเบส ที่เข้ามาช่วยคิดวิเคราะห์ข้อมูลการรักษา หรือระบบการจัดการทางการแพทย์ เครื่องมือทางการแพทย์ การบริการคนไข้ และการเพิ่มประสิทธิภาพห้องทดลอง เป็นต้น

วันนี้โลกแห่งการดูแลสุขภาพนั้น เปลี่ยนไปชัดเจน อย่างแรก คือ เปลี่ยนจากดูแลสุขภาพแบบพบหมอเมื่อเจ็บป่วย มาเป็นการดูแลสุขภาพต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี สำหรับการวินิจฉัยและการรักษาใน การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ซึ่งเป็นแนวคิดการดูแลรักษาโรค ให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยวิเคราะห์ถึงดีเอ็นเอ ปัจจัยแวดล้อม และพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรค

ตัวอย่างเช่น ระบบการติดตาม ด้วยเซนเซอร์วัดสถิติร่างกาย ประเภทอุปกรณ์นับจำนวนก้าว ระยะเวลาการนอน ซึ่งขณะนี้มีผู้ใช้งาน มากกว่าล้านคนทั่วโลก ตามจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เติบโตขึ้น  เซ็นเซอร์ที่ต้องตรวจผ่านเลือด ได้แก่ ระบบวัดระดับกลูโคส ระบบวัดอัตราการเต้นหัวใจ วัดออกซิเจน ซึ่งอำนวยความสะดวกให้คน ไม่ต้องเจาะเลือด แถมยังเชื่อมกับแอปพลิเคชั่นได้

ยุคเฮลท์เทคของวงการสุขภาพได้มาถึงแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ประเทศไทย ควรทำอย่างไร ให้เกิดการพัฒนาเพื่อนำประโยชน์จากเทคโลยี มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหากไทยสามารถรับรองผลการวิจัยได้เลยภายในประเทศ ก็จะเป็นการลดประหยัดต้นทุนผู้ผลิต ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเฮลท์เทค และตอบสนองต่อการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ของอาเซียน  

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีงานวิจัยที่นำ Deep Tech เอไอ มาใช้ในการพัฒนา การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) มี 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1. อุปกรณ์สวมใส่หรือเซนเซอร์ที่ติดตามร่างกาย เสื้อผ้าต่างๆ ที่สามารถวัดสัญญาณของระดับประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ หรือระบบวัดระดับกลูโคส ผ่านสมาร์ทโฟน และเชื่อมต่อกับแอพลิเคชั่นได้

2. การนำข้อมูลต่างๆมาใช้ในการรักษา เช่น การรักษาโรคออทิสติกด้วยระบบซอฟต์แวร์ ร่วมกับระบบเทรนนิ่ง ตลอดจนหุ่นยนต์ผ่าตัด ซึ่งใช้เทคโนโลยีเอไอมาวางแผน

3. อุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาในเรื่องซอฟต์แวร์ เฉกเช่นเดียวกับผู้นำที่ผลิตเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ของโลก คือ สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร

ดร. เคตะ โอโน่ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม (Innogineer Studio) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า Hackathon เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ ในการระดมไอเดียแก้ปัญหา และวิเคราะห์ทำความเข้าใจถึงปัญหา เพื่อค้นหาสุดยอดนวัตกรรมใหม่

งาน Global HealthTech Hackathon Challenges 2019 เป็นเวทีแข่งขันประชันไอเดียกันสดๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด 3 วัน 2 คืน โดย ว่าที่สตาร์ทอัพหน้าใหม่ จะได้รับโจทย์ ได้ฟูมฟักไอเดีย ฝึกทักษะการพัฒนา ความคิดสร้างสรรค์ ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย

เรียนรู้เทคนิคการออกแบบ ทั้งมี Mentors วิทยากรให้ความรู้ และเพิ่มประสบการณ์ จุดเด่นของแฮคกาธอนครั้งนี้คือ ได้ลงพื้นที่พบแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เช่น รพ. ศิริราช , รพ. รามาธิบดี , ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก  และนำเสนอ Business Pitching ทีมใดมีความคมเข้มในศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถแก้ปัญหาได้ มีความอดทน และบริหารเวลาได้ดี ก็มิสิทธิ์ลุ้นรับรางวัล มี 3 รางวัล และ NIA จะคัดเลือก 10 ทีม ที่มีศักยภาพ มาบ่มเพาะเพื่อต่อยอดเป็นสตาร์ทอัพต่อไป

ผลการแข่งขัน 3 ทีม ที่ได้รับรางวัล ได้แก่

อันดับ 1 ทีม Selfin ผลงาน Marketplace for ADHD Children

อันดับ 2 ทีม The Blank  ผลงาน AI Pathology

และอันดับ 3 ทีม Health U ผลงาน Health U Application นอกจากนี้ NIA จะคัดเลือก 10 ทีม ที่มีศักยภาพมาบ่มเพาะเพื่อต่อยอดเป็นสตาร์ทอัพ

Exit mobile version