Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

วิศวะมหิดล เตือนภัยรถ 6 แสนคัน เปลี่ยนด่วน ‘ถุงลมนิรภัย’…ชี้เสี่ยงระเบิดรุนแรงจากสารแอมโมเนียมไนเตรท

Onlinenewstime.com : ผู้เชี่ยวชาญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เตือนภัยจากเหตุไม่คาดฝัน หนุ่มวัย 46 ปี บาดเจ็บสาหัสเฉียดตาย ถูกแอร์แบค หรือถุงลมนิรภัยรถยนต์ระเบิดใส่ ชิ้นส่วนฝังเข้าบริเวณอกและท้อง 

เร่งคนไทยผู้เป็นเจ้าของรถ 8 ยี่ห้อตามรุ่นที่ระบุ ซึ่งผลิตในปีพ.ศ. 2541-2561 (ค.ศ.1998-2018) นำรถเข้าเปลี่ยนถุงลมนิรภัย หรือ แอร์แบค (Airbag) ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อความปลอดภัย เผยในประเทศไทยยังมีรถยนต์อีก 6 แสนคันที่ยังไม่เปลี่ยน ชี้อันตรายสูงเพราะสารแอมโมเนียมไนเตรท โอกาสระเบิดคาดเดาไม่ได้

ผู้บาดเจ็บจากแอร์แบคระเบิดเมื่อบ่ายวันที่ 25 พย. 65 ซึ่งนับเป็นรายที่ 6 ในประเทศไทย เผยว่าได้ขับรถยนต์วิ่งขาเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 3 ได้ชนท้ายรถกระบะ และแอร์แบคเกิดระเบิดอย่างรุนแรง ส่งผลให้บาดเจ็บสาหัส ทางโรงพยาบาลเอ็กซเรย์พบวัสดุฝังในหน้าอก ขนาดเท่าเหรียญหรือฝาน้ำ

เมื่อผ่าตัดเสร็จ แพทย์พบว่าเป็นอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนของแอร์แบค บาดแผลมีร่องรอยจากการระเบิดของแอร์แบค 2 จุด บริเวณหน้าอกและช่วงท้อง และแขน 2 ข้าง ช่วงคอมีบาดแผลคล้ายไฟไหม้ ส่วนรถได้รับความเสียหาย

ผศ.ดร. รุ่ง กิตติพิชัย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ถุงลมนิรภัย หรือ Airbag เป็นสิ่งคุ้นเคยของผู้ขับรถยนต์มายาวนาน เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ทำหน้าที่เสมือนเป็นหมอนรองลดแรงกระแทกจากการชน ต่อผู้ขับรถและผู้โดยสาร ช่วยลดการบาดเจ็บ

โดยปกติแล้ว ระบบการทำงานของถุงลมนิรภัยนั้น เมื่อรถยนต์เกิดการชนหรือกระแทกที่รุนแรงเกินกว่ากำหนด จะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับแรงกระแทก กล่องควบคุมการทำงานของแอร์แบคจะสั่งจุดระเบิดให้ “สาร” ภายในถุงลมนิรภัยให้ระเบิดออกด้วยอุณหภูมิและแรงดันสูง เพื่อทำให้ถุงลมนิรภัยพองตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งใช้เวลาเพียง 0.04 วินาที ด้วยความเร็วในการพองตัวถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

หลังจากนั้นถุงลมนิรภัยจะค่อยๆ ยุบตัวลง เพื่อป้องกันไม่ให้ถุงลมอัดกับผู้ขับนานเกินไป หรือบดบังการมองเห็น จนทำให้เกิดอันตรายอื่นๆ ตามมา

ทั้งนี้ถุงลมนิรภัยนั้นควรต้องทำหน้าที่ในภาวะจำเป็นเท่านั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ถุงลมนิรภัยควรจะทำงานขณะรถชนวิ่งในระดับความเร็วตั้งแต่ 40 กม/ชม.ขึ้นไป

ในอดีต “สารในถุงลมนิรภัย”ที่แนะนำและนิยมใช้ คือ “เตตราโซล” (Tetrazole) แต่ด้วยสารชนิดนี้มีราคาแพง ถุงลมนิรภัยยี่ห้อ ทาคาตะ ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ใช้แพร่หลายอันดับต้นๆ ในโลกอุตสาหกรรมรถยนต์นับร้อยล้านคัน ได้ใช้สารราคาถูกเพื่อลดต้นทุน คือ “แอมโมเนียมไนเตรท” (Ammonium Nitrate) ที่เป็นสารประกอบทำปุ๋ยและระเบิดนั้น

มีข้อเสียคือ สารนี้สามารถดูดซับความชื้นได้ดี ซึ่งหากการผลิตไม่ได้มาตรฐาน มีความชื้นอยู่ในถุงลมนิรภัยจะทำให้การระเบิดรุนแรงกว่าปกติเมื่อมันทำงานหรือมีการจุดระเบิด ถึงอาจทำให้ชิ้นส่วนภายในถุงลมนิรภัยแตกออกและพุ่งเข้าใส่ร่างคนขับขี่ในระยะกระชั้นชิด จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสและตายเป็นจำนวนมากอยู่ทั่วโลก

แม้ว่าในปัจจุบันนี้บริษัทผู้ผลิตถุงลมนิรภัยที่มีปัญหาจะล้มละลายไปแล้ว แต่ยังมีถุงลมนิรภัยรุ่นนี้ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ทั่วโลก

เฉพาะในประเทศไทยรถยนต์ที่ติดตั้งถุงลมทาคาตะนี้ได้แก้ไขเปลี่ยนแล้วกว่า 1 ล้านคัน แต่ยังมีอีกกว่า 6 แสนคันที่ยังไม่เปลี่ยน เปรียบเสมือนมีระเบิดอยู่หน้ารถของตัวเอง

ที่น่ากลัวคือ ไม่ต้องชนหนัก เพียงชนแรงพอที่จะให้ถุงลมนิรภัยทำงาน มันก็จะสร้างแรงอัดที่รุนแรง จนเศษโลหะแตกออกและพุ่งใส่ร่างกายคนได้ นอกจากนี้ปัญหาความเสี่ยงจะมากขึ้น หากเป็นรถยนต์ที่ใช้งานมานาน และอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น

เจ้าของรถ  8 ยี่ห้อและรุ่นรถที่ผลิตในปี 1998 -2018  ควรทำอย่างไร
ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการรถยนต์

ส่วนข้อแนะนำสำหรับผู้ขับรถทั่วไป รถยนต์ที่มีสัญลักษณ์ SRS ในรูปแบบต่างๆ ขึ้นที่หน้าปัดรถยนต์โดยจะสว่างขึ้นเมื่อสตาร์ทรถยนต์ ประมาณ 5 วินาที สัญลักษณ์นี้ก็จะดับลง นั่นหมายความว่า ถุงลมนิรภัยจะทำงานร่วมกับเข็มขัดนิรภัย

ดังนั้นควรคาดเข็มขัดนิรภัยในระหว่างขับขี่เสมอ เพื่อให้ถุงลมทำงานเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่ถ้าสัญลักษณ์ SRS สว่างขึ้นหรือกระพริบตลอดเวลาในระหว่างขับขี่ แสดงว่าถุงลมนิรภัยทำงานผิดปกติ ควรดับเครื่องยนต์และสตาร์ทใหม่อีกครั้ง ถ้ายังคงมีอาการไฟสัญลักษณ์ดังกล่าวติดค้างอยู่ ควรรีบนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คเพื่อความปลอดภัยทันที

Exit mobile version