Onlinenewstime.com : กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ 4 กรกฎาคม วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ชู “อนามัยสิ่งแวดล้อมไทย มิติใหม่สู่ความท้าทายในอนาคต” (New Era of Thai Environmental Health towards Future Challenges) พร้อมเผย การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มปริมาณมูลฝอยติดเชื้อสูงที่สุดเฉลี่ย 178 ตันต่อวัน แนะกำจัดอย่างถูกวิธี
การจัดงานวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยในปีนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานภาคี 6 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และสมาคมอนามัยแห่งประเทศไทย ร่วมจัดงานวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย
กิจกรรมสำคัญประกอบด้วย กิจกรรมรณรงค์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และการจัดงานวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ภายในงานมีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “อนามัยสิ่งแวดล้อมไทย มิติใหม่สู่ความท้าทายในอนาคต” และ “เปิดมิติเทคโนโลยี นวัตกรรมอนามัยสิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมสู่ทศวรรษการเปลี่ยนแปลง” ณ กรมอนามัย
โดยมี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผศ.ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล นายกสมาคมส่งเสริมคุณภาพอากาศในอาคาร (IAQ) ร่วมเสวนา
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2564 ภายใต้หัวข้อ “อนามัยสิ่งแวดล้อมปลอดภัย มิติใหม่สู่ความท้าทายในอนาคต” กล่าวว่า วันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย” โดยในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ภายใต้หัวข้อ “อนามัยสิ่งแวดล้อมไทย มิติใหม่สู่ความท้าทายในอนาคต” (New Era of Thai Environmental Health towards Future Challenges) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านสุขภาพอนามัยและปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะปริมาณมูลฝอยทางการแพทย์เพิ่มขึ้นทั่วโลก สำหรับประเทศไทยพบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากการตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล การกักกันผู้ติดเชื้อ รวมถึงมูลฝอยจากการให้บริการฉีดวัคซีน ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2564 พบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40.9 ตันต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.7 เฉพาะในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว พบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อสูงที่สุดเฉลี่ย 178 ตันต่อวัน
นอกจากนี้ยังมีปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งในปี 2563 มีประชากรกลุ่มเสี่ยงถึง 15 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด มีโอกาสได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว การเฝ้าระวังป้องกันความเสี่ยงสุขภาพของประชาชน จึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างความร่วมมือและบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วน ในการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ในครัวเรือนหรือชุมชน กรณีพบผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดการเกิดมูลฝอยติดเชื้อ และลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด–19 นั้น หากในพื้นที่ที่ระบบการเก็บขนส่งมูลฝอยติดเชื้อ ไม่สามารถเข้าถึงได้ ให้ใช้วิธีการดังนี้
- เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุมูลฝอยติดเชื้อ ให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อ (สารโซเดียมไฮโปรคลอไรท์ 5,000 ppm หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์) บริเวณปากถุง แล้วซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น แล้วมัดปากถุงชั้นนอกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง
- เคลื่อนย้ายไปพักยังที่พัก ที่จัดไว้เฉพาะ เพื่อรอประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้อง
- ภายหลังจัดการมูลฝอยแล้ว ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที
สำหรับประชาชนทั่วไป หากต้องทิ้งหน้ากากอนามัย ควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ เริ่มจากถอดหน้ากาก โดยจับสายรัดและถอดหน้ากากอนามัยจากด้านหลัง จากนั้นให้พับหรือม้วนหน้ากาก ส่วนที่สัมผัสกับใบหน้าเข้าหากัน จนมีขนาดเล็กแล้วมัดด้วยสายรัดให้แน่น
โดยหากสถานที่นั้นมีจุดทิ้งหน้ากากไว้เป็นการเฉพาะ ให้ทิ้งลงในถังหรือภาชนะนั้น กรณีสถานที่นั้น ไม่มีจุดสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัย ให้นำหน้ากากอนามัยที่พับแล้วใส่ถุงพลาสติก จากนั้นมัดหรือปิดปากถุงให้แน่น ก่อนทิ้งลงในถังหรือภาชนะรองรับขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง และต้องล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งหลังการทิ้ง