fbpx
News update

สภาพัฒน์แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2565 และแนวโน้มปี 2566

Onlinenewstime.com : วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2566) สภาพัฒน์ออกแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2565 และแนวโน้มปี 2566 โดย GDP ไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 โต 1.4%​ รวมทั้งปีโต 2.6% คาด GDP ทั้งปี 2566 โต 2.7-3.7%​ ข้อมูลโดยละเอียดดังนี้

เรื่อง เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2565 และแนวโน้มปี 2566

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2565 และแนวโน้มปี 2566 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2565

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.4 (%YoY) ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสที่สามของปี 2565 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2565 ลดลงจากไตรมาสที่สามของปี 2565 ร้อยละ 1.5 (%QoQ_SA) รวมทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 2564

ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกบริการ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่การส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของภาครัฐปรับตัวลดลง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 5.7 แม้จะชะลอตัวลงจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดบริการและการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนยังขยายตัวดี

โดยการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 0.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 17.7 ในไตรมาส ก่อนหน้า ตามการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะร้อยละ 2.6 ภายหลังจากการเร่งใช้จ่ายและขยายตัว ในเกณฑ์สูงร้อยละ 33.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอตัวลง จากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายหมวดเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง และหมวดเสื้อผ้าและรองเท้า

ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 10.5 ต่อเนื่องจาก การขยายตัวร้อยละ 16.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของบริการในหมวดที่พักแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของค่าใช้จ่ายกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.0 จากระดับ 37.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลงร้อยละ 8.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็น ตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลงร้อยละ 37.6 ส่วนรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลง ร้อยละ 0.5 ตามการลดลงของค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคโควิด 19 และค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) ลดลงร้อยละ 1.4 สาหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 34.1 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 21.4 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 35.0 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 3.9 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของ การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 11.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือขยายตัวร้อยละ 5.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 14.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.9 ใกล้เคียงกับร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า

การลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการขยายตัวของการลงทุนของรัฐวิสำหกิจร้อยละ 10.3 ขณะที่การลงทุนรัฐบาลลดลงร้อยละ 2.2 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 18.6 (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 21.2 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่าร้อยละ 17.2 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน)

ในด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 65,814 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 7.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 10.3 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ชะลอลงจากร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามต้นทุนราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ชะลอตัวลง

กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ลดลงร้อยละ 1.7) เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี (ลดลงร้อยละ 23.7) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 8.4) รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 1.5) รถกระบะและรถบรรทุก (ลดลงร้อยละ 9.4) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ลดลงร้อยละ 31.2) ข้าว (ลดลงร้อยละ 2.2) ยาง (ลดลงร้อยละ 36.9) และน้ำตาล (ลดลง ร้อยละ 8.3) เป็นต้น

กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 31.3) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ 0.5) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 0.2) ปลากระป๋องและปลาแปรรูป (ร้อยละ 6.2) และเครื่องดื่ม (ร้อยละ 2.2) เป็นต้น การส่งออกสินค้าไปยังตลาดส่งออกหลักลดลง ขณะที่การส่งออกไปยังตะวันออกกลางและสหราชอาณาจักรขยายตัว เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่า การส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 7.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อคิด ในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ชะลอลงจากร้อยละ 18.1 ในไตรมาสก่อนหน้า

ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 62,844 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 23.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณนำเข้าลดลงร้อยละ 9.2 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 3.0 พันล้านดอลลาร์สรอ. (108.8 พันล้านบาท)

ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรมและสาขาก่อสร้างกลับมาขยายตัว ส่วนสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งขายปลีกและการซ่อมฯ และสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้ายังขยายตัว ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง

สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวย ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดพืชผลสำคัญ อาทิ กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 37.5) โดยเฉพาะทุเรียน (ร้อยละ 136.4) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 20.9) และอ้อย (ร้อยละ 29.5) หมวดประมง โดยเฉพาะกุ้งขาวแวนนาไม (ร้อยละ 11.4) และหมวดปศุสัตว์ โดยเฉพาะไก่เนื้อ (ร้อยละ 1.1)

ในขณะที่ผลผลิตบางรายการที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ หมวดปศุสัตว์ อาทิ สุกร (ลดลงร้อยละ 3.0) และไข่ไก่ (ลดลงร้อยละ 3.0) หมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ยางพารา (ลดลงร้อยละ 0.8) ข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 0.7) เป็นต้น

ราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 12.8 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าสำคัญ อาทิ กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 38.4) โดยเฉพาะทุเรียน (ร้อยละ 51.5) ข้าวเปลือก (ร้อยละ 27.6) สุกร (ร้อยละ 42.4) ไก่เนื้อ (ร้อยละ 25.6) และมันสำปะหลัง (ร้อยละ 19.0) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวลดลง เช่น ราคาปาล์มน้ามัน (ลดลงร้อยละ 39.2) ราคายางพารา (ลดลงร้อยละ 13.7) และราคากุ้งขาวแวนนาไม (ลดลงร้อยละ 2.5) เป็นต้น

การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 16.5

สาขาการก่อสร้าง กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ร้อยละ 2.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐกลับมาขยายตัวครั้งแรก ในรอบ 6 ไตรมาส ร้อยละ 3.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.7 ในไตรมาสก่อนหน้า (การก่อสร้างของรัฐบาลกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ร้อยละ 0.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 9.8 ในไตรมาสก่อนหน้า

ส่วนการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 11.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า) และการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 1.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการก่อสร้างอาคารที่มิใช่ที่อยู่อาศัยในขณะที่การก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟฟ้า

สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 30.6 แต่ชะลอลง เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 53.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในไตรมาสนี้มีจำนวน 5.465 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 55.66 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19) ส่งผลให้มูลค่าบริการรับด้านการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้อยู่ที่ 0.239 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ร้อยละ 362.1

ส่วนรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยมีจำนวน 0.186 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 122.3 ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 0.425 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 213.9 สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 62.64 สูงกว่าร้อยละ 49.96 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส

สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ร้อยละ 9.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 10.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 11.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของบริการขนส่งทางอากาศและบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงเป็นสำคัญ

สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 4.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.0 ในไตรมาสก่อนหน้าตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 5.8 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลง

ร้อยละ 13.5 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่ม การผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 5.1 เทียบกับ การเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วง ร้อยละ 30 – 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ชะลอตัวลงมากจากการขยายตัวร้อยละ 22.9 ในไตรมาสก่อนหน้า

การผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ลดลง อาทิ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ลดลงร้อยละ 42.5) การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 8.7) การผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น (ลดลงร้อยละ 19.6) การผลิตเฟอร์นิเจอร์ (ลดลงร้อยละ 38.5) และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (ลดลงร้อยละ 10.5) เป็นต้น

ส่วนการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น อาทิ การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 8.5) การผลิตน้ำมันปาล์ม (ร้อยละ 30.6) การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ (ร้อยละ 6.1) การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 3.4) และการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบ (ร้อยละ 36.5) เป็นต้น สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.20 ต่ำกว่าร้อยละ 62.61 ในไตรมาส ก่อนหน้า และต่ำกว่าร้อยละ 64.51 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.15 ต่ำกว่าร้อยละ 1.23 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าร้อยละ 1.66 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.8 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.2 สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์สรอ. (4.3 หมื่นล้านบาท) ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,587,313.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.7 ของ GDP

เศรษฐกิจไทย ปี 2565

เศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.6 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 2564 ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและ การลงทุนภาคเอกชน

ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว ร้อยละ 6.3 และร้อยละ 5.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.6 และร้อยละ 3.0 ในปี 2564 ตามลำดับ การส่งออกบริการกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 65.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 19.9 ในปีก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 15.3 ในปี 2564 ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 4.9

ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารกลับมาขยายตัวร้อยละ 39.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 15.0 ของปีก่อนหน้า สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.8 ในปี 2564 และสาขาการขายส่งและการขายปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปี 2564 ส่วนสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2564

ขณะที่สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.4 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.7 ในปี 2564 และสาขาการก่อสร้างลดลงร้อยละ 2.7

รวมทั้งปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 17.4 ล้านล้านบาท (4.95 แสนล้านดอลลาร์สรอ.) เพิ่มขึ้นจาก 16.2 ล้านล้านบาท (5.05 แสนล้านดอลลาร์สรอ.) ในปี 2564 และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 248,635.3 บาทต่อคนต่อปี (7,089.7 ดอลลาร์สรอ. ต่อคนต่อปี) เพิ่มขึ้นจาก 231,986.1 บาทต่อคนต่อปี (7,254.1 ดอลลาร์สรอ. ต่อคนต่อปี) ในปี 2564

สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 6.1 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 3.4 ของ GDP

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2566

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 –– 3.7 (ค่ากลางของ การประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 3.2) โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจาก (1) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (2) การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ (3) การขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และ (4) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร

ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน จะขยายตัวร้อยละ 3.2 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.1 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สรอ. ลดลงร้อยละ 1.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 –– 3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.5 ของ GDP

รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2566 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้

1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค

(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 3.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.3 ในปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก การขยายตัวของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวและภาคเกษตร รวมทั้งตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และ

(2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.04 ในปี 2565 และเป็นการปรับลดจากการลดลงร้อยละ 0.1 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับลดกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำภายหลังการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณปี 2566 รวมทั้งการลดลงของการใช้จ่ายจากพระราชกำหนดเงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท และพระราชกำหนดเงินกู้ฯ 5 แสนล้านบาท

2. การลงทุนรวม

คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อเนื่องจากร้อยละ 2.3 ในปี 2565 โดย

(1) การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.1 ปรับลดลงจากร้อยละ 2.6 ในการประมาณการครั้งก่อน และเทียบกับร้อยละ 5.1 ในปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มการลดลงของการส่งออกสินค้า และ

(2) การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 4.9 ในปี 2565 และเป็นการปรับเพิ่มจากร้อยละ 2.4 ในการประมาณการครั้งก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 664,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 จากวงเงิน 564,319 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 และการปรับกรอบงบประมาณหลังการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ

3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ.

คาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 5.5 ในปี 2565 และเป็นการปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับลดสมมติฐานราคาส่งออกและการปรับลดประมาณการปริมาณส่งออก

โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะลดลงร้อยละ 0.6 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.0 ในการประมาณการครั้งก่อน ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าในสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการเปิดประเทศที่เร็วกว่าที่คาดของจีน

ทั้งนี้ ในกรณีฐานคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จะอยู่ที่ 1.31 ล้านล้านบาท เทียบกับ 0.58 ล้านล้านบาท ในปี 2565 ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 เทียบกับร้อยละ 8.5 ในการประมาณการครั้งก่อน และร้อยละ 6.8 ในปี 2565

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2566

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับ

(1) การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งหนี้สินในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

(2) การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตร ที่จะออกสู่ตลาด การสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิตของภาคการเกษตร การปรับโครงสร้างการผลิต และการขยายผลการทำเกษตรยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์

(3) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดย (i) การอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก (ii) การส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทำงเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง (iii) การติดตามประเมินสถานการณ์และเงื่อนไขการค้าโลก

(iv) การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกาหนดของประเทศผู้นำเข้า ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิต (v) การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัด การเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กาลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และ (vi) การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

(4) การสนับสนุน การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดย (i) การแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมให้ ภาคการท่องเที่ยวรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งการพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ (ii) การส่งเสริมการพัฒนา การท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยั่งยืน (iii) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และ (iv) การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

(5) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563 — 2565 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะโครงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ii) การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานใน ภาคการผลิต

(iii) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุน ในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย (iv) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ

(v) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และ (vi) การพัฒนากาลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น

(6) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระยะปานกลางและเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

(7) การติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และ

(8) การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

17 กุมภาพันธ์ 2566