Onlinenewstime.com : สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย จัดเวทีข้อเสนอเชิงนโยบาย จรรยาบรรณ การกำกับดูแลตนเองของวิชาชีพโฆษณา เพื่อขับเคลื่อนการผลิตสื่อโฆษณา ที่ตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็น ในการรับนำแนวปฏิบัติในการโฆษณาและการสื่อสารการตลาด ของหอการค้านานาชาติ (ICC Advertising and Marketing Communications Code) มาปรับใช้ในอุตสาหกรรมโฆษณาในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นเวทีปิดท้าย โครงการการผลิตสื่อโฆษณา ที่ตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ ภายใต้การสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมี คุณรติ พันธุ์ทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย มากล่าวต้อนรับ และสรุปการดำเนินงานขับเคลื่อนจรรยาบรรณวิชาชีพ และการกับดูแลตนเองของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และคุณวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มาให้เกียรติกล่าวเปิดงานในงานนี้
ในงานเสวนามีผู้เชี่ยวชาญ ในการกำหนดทิศทางนโยบายการกำกับดูแลตนเองของนักวิชาชีพ ตัวแทนภาครัฐ นักวิชาการ และนักวิชาชีพ เข้าร่วมระดมสมอง ได้แก่ รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านสื่อมวลชน และนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการสื่อสาร, คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
และที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, ดร.นิวัต วงศ์พรหมปรีดา รองนายกสมาคมฯ ฝ่ายมาตรฐานวิชาชีพ, คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย), คุณผณินท์สุธา พรวุฒิยานนท์ กรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย, ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน
และรองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาสังคม และคุณนิชคุณ ตุวพลางกูร รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้ บริษัท โอกิลวี่ ประเทศไทย
นายรติ พันธุ์ทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า “สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องจรรยาบรรณหรือ Code of conduct และการกำกับดูแลกันเองมาโดยตลอด ถือเป็นภารกิจหลักของสมาคม ที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แล้วเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง
ซึ่งในปีนี้เอง ได้ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการนำแนวปฏิบัติในการโฆษณาและการสื่อสารการตลาด ของหอการค้านานาชาติ หรือ ICC CODE มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติในอุตสาหกรรมวิชาชีพโฆษณาในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะได้เริ่มประกาศใช้ ในปีหน้าอย่างเต็มรูปแบบ
โดยผลจากการเสวนา ในส่วนของทิศทางการดำเนินการนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นสอดคล้องกันว่า แนวทางในการขับเคลื่อนความเข้มแข็ง ในกลไกการกำกับดูแลตนเองด้วยจรรยาบรรณของนักวิชาชีพโฆษณา กระบวนการการกำกับดูแลกันเอง ควรจะก้าวไปสู่การกำกับดูแลร่วม (Co-regulation)
ในการกำกับดูแลตนเองในเรื่องจริยธรรม จะต้องมีการระบุกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าจะกำกับในระดับองค์กรหรือรายบุคคล การปรับใช้ช่วงต้น ควรเจาะจงเลือกกลุ่มที่เขามีความสนใจในเรื่องนี้ก่อน ทั้งนี้ต้องมีการทำงานเชิงรุกที่หยิบยกประเด็นที่มีปัญหาขึ้นมาพิจารณาได้เลย โดยไม่ต้องรอการฟ้องร้อง
และควรมีการสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน ให้มากขึ้น ในส่วนของ ICC CODE ที่จะมีการนำมาปรับใช้ ที่ประชุมได้มีข้อเสนอว่า ควรมีการแบ่งย่อยเพื่อดูในหัวข้อหลักๆ ให้เข้าใจง่าย ในการนำมาปรับใช้”
สำหรับแนวปฏิบัติในการโฆษณาและการสื่อสารการตลาด ของหอการค้านานาชาติ (ICC Advertising and Marketing Communications Code) ทางสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ได้มีการดำเนินการในการแปลเป็นฉบับภาษาไทยเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งคาดว่า สามารถนำมาประกาศใช้ในอุตสาหกรรมโฆษณาในประเทศไทยเร็วๆนี้