onlinenewstime.com : นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟสบุ้คถึงสถานการณ์ ฝุ่น PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ว่า เกิดจากการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร แต่ความจริงปัญหาฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานเกิดขึ้นมานานกว่า 7 ปีแล้ว แนะต้องติดตามข่าวอย่างมีสติ ไม่ตื่นตระหนกเสียเงินทองซื้ออุปกรณ์ป้องโดยใช่เหตุ ส่วนภาครัฐควรพลิกวิกฤตความตื่นกลัวของประชาชนเป็นโอกาสที่จะแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง
สำหรับข้อความที่ นายแพทย์มนูญ โพสต์ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ในหัวข้อว่า คนไทยตื่นตระหนกกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มากเกินไปหรือเปล่า? พร้อมอธิบายอีกว่า ความจริงคนในกทม.อยู่กับฝุ่น PM2.5 ที่สูงเกินค่ามาตรฐานในเดือนมกราคมถึงมีนาคมทุกปีมานานอย่างน้อย 7 ปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มมีการวัดค่า PM2.5 ในกทม.ปีพ.ศ.2554 (ดูกราฟ) บางปีบางวันสูงถึง 110 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรโดยไม่มีข่าวว่าฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในกทม.
แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่สื่อมวลชนและโลกโซเชียลประโคมข่าวให้คนทั่วไปทราบค่า PM2.5 และมีคำเตือนว่า PM2.5 อันตรายต่อสุขภาพ ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 50,000 คนต่อปี ด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบตัน โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
ตัวเลขนี้เป็นเพียงการคาดคะเนทางระบาดวิทยา ต้องรอการศึกษาระยะยาวว่าจริงหรือไม่ แต่คนไทยในกทม.เกิดความตื่นกลัวเรียบร้อยแล้ว หาหน้ากากอนามัยและหน้ากาก N95 มาใส่ป้องกันตัวเองจนหน้ากากขาดตลาด
ก่อนอื่นต้องรู้ว่าค่ามาตรฐาน PM2.5 ขององค์การอนามัยโลกและประเทศต่างๆในโลกไม่เหมือนกัน องค์การอนามัยโลกเข้มงวดที่สุดในการกำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ให้ค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมงไม่เกิน 25 และค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 10 มคก./ลบ.ม
ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุด ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่สามารถปฏิบัติตามได้
มีเพียงร้อยละ 3 ของประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง และร้อยละ 51 ของประเทศที่มีรายได้สูงสามารถควบคุมค่า PM2.5 ได้ตามค่ามาตรฐานนี้ และองค์การอนามัยโลกคาดว่าประชากรโลกร้อยละ 92 หายใจอากาศที่มี PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน
ขนาดประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยังกำหนดค่ามาตรฐานตัวเลขสูงกว่าขององค์การอนามัยโลก เขากำหนดค่า PM 2.5 เฉลี่ยต่อวันไม่เกิน 35 และต่อปีไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม
ประเทศไทยกำหนดค่า PM2.5 เฉลี่ยต่อวันไม่เกิน 50 และต่อปีไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม เหมือนกับหลายประเทศที่มีรายได้ปานกลาง มีอีกหลายประเทศที่กำหนดค่ามาตรฐานตัวเลขสูงกว่าของไทย
” ค่ามาตรฐาน PM2.5 ของไทยเหมาะสมแล้วสำหรับสถานการณ์ในกทม.ขณะนี้ ในอนาคตอันใกล้เมื่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จ รถในกทม.ติดน้อยลงและเรามีมาตรการจริงจังไม่ให้รถที่ใช้น้ำมันดีเซลปล่อยควันดำออกมาวิ่งบนถนน ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ลดการเผาทุกชนิดในที่โล่งได้แก่ เผาหญ้า เผาตอซังข้าว เผาขยะ ลดการจุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง ลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ ประเทศไทยจึงค่อยๆปรับค่ามาตรฐาน PM2.5ให้ตัวเลขลดลงในอนาคต “
มีรายงานค่า PM2.5 เฉลี่ยรายปีของประเทศไทย 27 มคก./ลบ.ม อยู่ในอันดับที่ 74 หมายความว่ามี 73 ประเทศที่คุณภาพอากาศด้อยกว่าไทย ค่าเฉลี่ยรายวันของกทม.ในช่วงเดือนนี้ที่สูงชั่วคราวสูงถึง 120 มคก./ลบ.ม ก็ยังต่ำกว่าเมืองใหญ่ในหลายๆประเทศเช่นอินเดีย จีน คนจีนเห็นค่า PM2.5 ในกทม.บอกว่าอากาศดีเมื่อเทียบกับประเทศของเขา และไม่กลัวมาเที่ยวเมืองไทย
สรุปแล้วคุณภาพอากาศในกทม.อยู่ในระดับปานกลาง ไม่ได้แย่มากเข้าขั้นวิกฤตอย่างที่เป็นข่าวในปัจจุบัน
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ค่า PM2.5 ตัวเลขต่ำไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่โรคหลอดเลือดโคโรนารีย์ หลอดเลือดสมองตีบตัน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด เป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของสหรัฐ แสดงว่า PM2.5 ไม่ใช่สาเหตุหลัก เป็นเพียงสาเหตุร่วม สาเหตุอื่นเช่นโรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง กินอาหารหวาน มัน เค็ม ไม่ออกกำลังกาย อ้วน นอนไม่พอ เครียด สูบบุหรี่ สูดดมควันจากท่อไอเสีย และกรรมพันธ์ สำคัญกว่าค่า PM2.5
ในขณะนี้คนทั่วไปสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ยกเว้นงดออกกำลังกายกลางแจ้งเมื่อดัชนีคุณภาพอากาศ Air Quality Index (AQI) ซึ่ง PM2.5 เป็นหนึ่งในค่าที่ใช้ในการคำนวณ เปลี่ยนจากสีส้มเป็นสีแดง ค่าตัวเลข AQI 201 ขึ้นไป เวลาออกนอกบ้าน อยากจะใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 แบบไหนก็ได้แล้วแต่ความสบายใจ N95 กรองฝุ่น PM2.5 ได้ดีกว่าหน้ากากอนามัย แต่ต้องใส่ให้ถูกวิธี ใส่นานๆจะอึดอัด หายใจลำบากโดยเฉพาะคนที่เป็นโรคปอด หรือโรคหัวใจใส่นานไม่ได้
สำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือเด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนสูงอายุ คนที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง ควรอยู่ในบ้าน ปิดประตู หน้าต่าง เปิดเครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เมื่อดัชนีคุณภาพอากาศเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีส้ม ค่าตัวเลข AQI 101-200 ถ้าต้องออกนอกบ้านคนในกลุ่มเสี่ยงควรใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 แต่คนทั่วไปไม่ใส่ก็ได้
คนไทยต้องติดตามข่าวอย่างมีสติ ไม่ตื่นเต้นตกใจเกินไป บางคนถึงขั้นซื้อเครื่องวัด PM2.5 อย่างพกพา ซึ่งไม่มีสถาบันไหนรับรอง ซื้อสเปรย์บล็อคฝุ่น PM2.5 มาพ่นรอบใบหน้าเพื่อป้องกันฝุ่นเข้าจมูกปอด ซื้อแผ่นกรองปิดจมูก เป็นการเสียเงินทองโดยใช่เหตุ
“เราอยู่กับฝุ่น PM2.5 มานานกว่า 7 ปีโดยไม่เป็นอะไร ช่วงม.ค.-มี.ค. ค่า PM2.5 จะขึ้นๅลงๆเกินค่ามาตรฐาน อีก 2 เดือนค่า PM2.5 ก็จะลดลงเหมือนเช่น 7 ปีที่ผ่านมา
ภาครัฐควรพลิกวิกฤตความตื่นกลัวของประชาชนต่อฝุ่น PM2.5 เป็นโอกาสที่จะแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง