fbpx
News update

หยุดสร้างขยะ รักษาระบบนิเวศน์และทรัพยากรในท้องทะเล

ขยะกำลังจะล้นโลก เพราะปัจจุบันโลกต้องจัดการขยะที่สร้างขึ้นประมาณ 1.3 พันล้านตันต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านตันต่อปี ภายในปี 2025 แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราการผลิตขยะเฉลี่ยคนละ 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เพิ่มเป็น 1.42 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ภายในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาอัตราการผลิตขยะจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วงระยะเวลาอีก 20 ปีข้างหน้า

นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่เราทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกและโฟมให้ลดน้อยลง นับว่าเป็นอีกหนทางที่จะช่วยลดมลภาวะเรื่องนี้ให้กับโลก เพราะผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่เพียงพวกเราเท่านั้นที่ต้องยอมรับกับหายนะที่เกิดขึ้น

ทว่าหายนะนี้ส่งผลต่อปลาวาฬ เต่า สัตว์น้ำต่างๆที่กินขยะเข้าไป เพราะไม่สามารถแยกแยะว่าคิดว่าขยะ คือ อาหารที่มีอยู่ในท้องทะเลเช่นที่ผ่านมา

สิ่งที่ชี้ชัดถึงเรื่องนี้นั้น เห็นได้จาก เหตุการณ์วาฬนำร่องครีบสั้นเกยตื้นตาย ที่จังหวัดสงขลา โดยพบสาเหตุจากตายของวาฬตัวนี้ เกิดจากการกินขยะพลาสติกเข้าไปจำนวนมาก

ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะที่ผ่านมาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จากข้อมูลของนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ที่กล่าวว่า จากสถิติสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับผลกระทบจากขยะทะเลในปี 2560 มีจำนวนสัตว์ทะเลเกยตื้น 413 ตัว หรือ 16 % เพิ่มขึ้นจากที่ผ่านมาเกือบเท่าตัว โดยกินขยะพลาสติกตายสูงถึง  51%

อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งจากตัวเลขการสูญเสีย จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ของหลายๆหน่วยงาน  เริ่มจากอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวในวันทะเลโลกปีนี้ว่า (วันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี) ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลดเลิกใช้และผลิตพลาสติกและโฟมที่ไม่จำเป็นอย่างจริงจัง และส่วนใหญ่หันมาใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

โดยใช้เหตุการณ์วาฬนำร่องครีบสั้นเกยตื้นตาย ที่จังหวัดสงขลา สาเหตุจากการกินขยะพลาสติกเข้าไปจำนวนมากเป็นบทเรียนให้เห็นถึงโทษทัณฑ์ของขยะพลาสติก เพื่อเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งเดินหน้าให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการพัฒนาความรู้และปรับพฤติกรรมการใช้พลาสติกอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน เพื่อจัดการปัญหาขยะและทรัพยากรพลาสติกที่ใช้แล้ว คาดว่า จะลดขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ 50% ภายในปี 2570

ไม่เพียงเท่านั้น ทางด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมออกมาตราการเลิกใช้ถุงพลาสติกและโฟมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 154 แห่ง  และสวนสัตว์ทั่วประเทศ  7 ห่ง โดยจะมีการนำร่องประชาสัมพันธ์ก่อนประมาณ 1-2 เดือน

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มาตรการนี้ ถือเป็นการลดปัญหาขยะตกค้างและขยะทะเลได้จำนวนมาก

จากสถิติประเทศไทยใช้พลาสติกหูหิ้วมากถึง 45,000 ล้านชิ้นต่อปี ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันแล้วมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น เช่น ถุงพลาสติก จานและแก้วพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก หลอดเครื่องดื่มและที่คนกาแฟ ก้นกรองบุหรี่ ขวดและฝาขวดน้ำดื่ม ก้านไม้พันสำลี ถุงหรือกระเป๋า บรรจุภัณฑ์ห่อขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร ถ้วยพลาสติกและฝาถ้วย

ซึ่งพลาสติกดังกล่าวส่วนใหญ่ผลิตจากปิโตรเลียมและจะกลายเป็นขยะในทะเล บางส่วนอาจแตกสลายเป็นเศษพลาสติกชิ้นเล็กที่เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร หรือไมโครพลาสติก แล้วปนเปื้อนอยู่ในน้ำและอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหากเข้าสู่ร่างกาย

ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มการบริโภคที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสินค้าและบรรจุภัณฑ์ต้องมีคุณสมบัติที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ หรือเลือกใช้วัตถุดิบทางเลือกจากธรรมชาติอย่างพลาสติกชีวภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลดใช้สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกมากขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว