Onlinenewstime.com : ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ได้แก่ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมาคมไอเซคพัฒนาผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ (AIESEC) เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และเครือข่ายเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา ได้เข้าพบ นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้บริหารของกระทรวงฯ เพื่อหารือและยื่นหนังสือขอให้พิจารณาออกมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์
ซึ่งเป็น “ภัยร้ายใกล้ตัว” ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังมีแนวโน้ม ที่จะขยายตัวอย่างมากและรวดเร็ว ส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต การเรียน การทำงาน และก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ตามมาอีกมากมาย
โดยสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์ปัญหา เกี่ยวกับการพนันออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีเว็บไซต์มากกว่า 2 แสนเว็บไซต์ และมีกลยุทธ์การตลาดที่แนบเนียน แทรกซึมในสื่อต่างๆ ที่เด็กและเยาวชนเปิดรับ ทั้งยังมีสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่แนะนำหรือชี้ช่องทาง และเชิญชวนให้เล่นพนันเป็นจำนวนมาก
นางสาวเมธาวี เมฆอ่ำ รองประธานสมาคมไอเซคพัฒนาผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ (AIESEC) กล่าวว่า เครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหาและผลกระทบจากการพนันออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้ จะมีการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 (EURO 2020) ระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม – 9 สิงหาคม ศกนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะพัดในวงการพนัน ทายผลการแข่งขันกีฬาจำนวนมหาศาล และเป็นโอกาสให้เกิดนักพนันหน้าใหม่จำนวนมาก โดยมีผลวิจัยระบุว่าเยาวชนที่เริ่มเล่นพนันฟุตบอล มีแนวโน้มที่จะเล่นพนันอย่างต่อเนื่องสูงถึงร้อยละ 82.6
เครือข่ายฯ จึงขอแสดงจุดยืน ในการร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชน จากการพนันออนไลน์ โดยมีข้อเสนอต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 4 ข้อ ได้แก่
- ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประกาศนโยบายป้องกัน และแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชนเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อหยุดยั้งปัญหา และลดผลกระทบอย่างทันทีทันใดและยั่งยืน
- ขอให้กระทรวงฯ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข พัฒนากลไกและมาตรการในการแก้ปัญหาการพนันออนไลน์อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
- ขอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยระบุลักษณะความผิด อันเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ให้ครอบคลุม ชัดเจน และกำหนดเพิ่มบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดดังกล่าว
- ขอให้พัฒนาช่องทางการร้องเรียน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ได้มีส่วนร่วมแจ้งเบาะแส และข้อมูลข่าวสาร หากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนันออนไลน์
นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า การพนันออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเข้าถึงง่าย สะดวกรวดเร็ว ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ การตรวจจับของเจ้าหน้าที่ยากลำบาก
กลุ่มธุรกิจพนันมีการพัฒนาก้าวล้ำไปกับยุคดิจิทัล โดยนิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางการโฆษณาเชิญชวนเด็กเยาวชน ผ่าน Facebook Line Youtube Twitter Website ในรูปแบบต่างๆ โดยใช้บุคคลผู้มีชื่อเสียง ศิลปิน ดารานักแสดง และเน็ตไอดอล ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเด็กและเยาวชน รวมถึงการว่าจ้างให้เยาวชน รีวิวเว็บไซต์พนัน เพื่อแนะนำบอกต่อเชิญชวนกันเองด้วย
ส่งผลให้มีนักพนันหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันไม่ใช่แค่พนันฟุตบอล แต่กีฬาหรือแม้แต่กิจกรรมอื่นๆ ก็สามารถนำมาเป็นการพนันได้ อาทิ การเลือกตั้ง ขณะที่ปัจจุบัน ยังไม่มีกลไกปกป้องเด็กและเยาวชนจากสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน ร่วมกันหาแนวทางป้องกันเยาวชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจพนันอย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่ง ที่เห็นเครือข่ายเยาวชนมีความสนใจกับปัญหาของสังคม และมีบทบาทในการช่วยกันดูแลร่วมกับภาครัฐ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของรัฐบาล
โดยพยายามลดขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถดูแลแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ขอให้เครือข่ายเยาวชนช่วยกันสร้างการรับรู้และตระหนัก ว่าการลงทะเบียนกรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อเล่นพนันออนไลน์นั้นไม่มีความปลอดภัย โดยอาจมีการรั่วไหล และมีโอกาสถูกแฮกข้อมูลบัญชีของเรา ที่ทำให้เสียเงินโดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับการหลอกลวงทางการเงินในรูปแบบอื่นๆ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ยินดีรับข้อเสนอ ในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนากลไกและมาตรการในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาพนันออนไลน์ให้รวดเร็วและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
สำหรับเรื่องการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่อาจจะใช้กระบวนการกรรมการกลั่นกรองได้ เพื่อพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเป็นรายกรณีไป
ส่วนเรื่องช่องทางการร้องเรียน สามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 ทั้งปัญหา การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมถึงการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ปัญหาจากการซื้อขายทางออนไลน์ ตลอดจนปัญหาทางออนไลน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แนวทางการดำเนินการ เกี่ยวกับปัญหาการพนันออนไลน์ต้องร่วมช่วยกันทุกภาคส่วนใน 3 ด้าน คือ 1) ป้องกัน โดยเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันสร้างการรู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตอย่างเหมาะสม 2) ปราบปราม แม้ว่ากระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้มีภารกิจด้านนี้โดยตรง แต่มีกฎหมายและเครื่องมือที่ร่วมทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ และ 3) แก้ไข ด้วยการออกมาตรการต่างๆ ซึ่งต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นต่อไป