Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

ออมสิน รายงานผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup ไตรมาส 1 ปี 2562”

onlinenewstime.com : ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผย ผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup (SSI) ประจำไตรมาส 1 ปี 2562 โดยได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง ผู้ประกอบการ Startup ทั่วประเทศจำนวน 500 ตัวอย่าง พบว่า

ดัชนี SSI ประจำไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 58.80 ซึ่งสูงกว่าค่ากลาง ที่ระดับ 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการ Startup ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวม

อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ในไตรมาสที่ 1 มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากไตรมาสก่อน อันเป็นผลมาจากหลายปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอคำสั่งซื้อ ของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ

ประกอบกับ ผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น จากคู่แข่งในตลาด ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากในและนอกประเทศ ส่งผลกระทบให้ยอดขาย และคำสั่งซื้อ มีการชะลอตัวลง   

นอกจากนี้ยังมีปัญหาภัยแล้ง ในบางพื้นที่ ทำให้ผลผลิตบางชนิดออกมาได้น้อย โดยเฉพาะผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อย ส่งผลกระทบให้รายได้ของเกษตรกรกลุ่มนี้ ชะลอตัวลง

สำหรับ ดัชนี SSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการ Startup มีมุมมองต่อภาวะธุรกิจ Startup ในภาพรวมดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 67.52 โดยคาดหวังว่า หากการจัดตั้งรัฐบาล สำเร็จลุล่วงด้วยดี จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศปรับตัวดีขึ้น

ทว่าผู้ประกอบการ ยังมีความกังวลต่อสงครามการค้า ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งหากการเจรจาการค้า ไม่ประสบผลสำเร็จ จะส่งผลกระทบต่อยอดขายและคำสั่งซื้อ ของสินค้าหลายประเภท

แต่ในทางกลับกัน สินค้าไทยบางประเภท อาจได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น จากสหรัฐฯ เพื่อทดแทนการซื้อจากจีน รวมถึงยังอาจได้รับอานิสงส์ จากการย้ายฐานการผลิตของจีนและสหรัฐฯ เช่นกัน

นอกจากนี้ ไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่มีวันหยุดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ที่จะส่งผลเชิงบวก ต่อธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโดยรวม ยังคงมีความกังวล เกี่ยวกับต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากราคาน้ำมันดิบ  ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดไตรมาสที่ 1 ซึ่งส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาในแต่ละภาคธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การค้า และบริการ ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 53.08 – 61.16 แสดงถึงผู้ประกอบการ Startup  ยังคงมีความเชื่อมั่น ต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวม (สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50)

โดยดัชนี SSI ในภาคการเกษตรอยู่ที่ระดับ 61.16 สูงที่สุด ในทุกภาคธุรกิจ เนื่องจากเข้าสู่ ต้นฤดูกาลของผลไม้ ที่ได้รับความนิยม จากทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เช่น มะม่วง ทุเรียน และมังคุด

ซึ่งในไตรมาสแรก นี้ผลไม้ดังกล่าว ได้ผลผลิตดี ส่งผลให้รายได้ภาคเกษตร ในกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ ผู้ประกอบการภาคเกษตรบางส่วน มีการนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการเพาะปลูก และการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถบริหารจัดการผลผลิต และพัฒนาคุณภาพสินค้า ให้ได้คุณภาพ และมีมาตรฐานเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ Startup ยังคงมีข้อจำกัด ในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง ที่ทำให้ผลผลิตบางชนิด ออกมาได้น้อย เช่น ข้าวนาปรังและอ้อย อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องโรคระบาดในสัตว์ และแมลงศัตรูพืช  

สำหรับผู้ประกอบการ startup ในธุรกิจท่องเที่ยว ยังเผชิญกับการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน และแนวโน้มนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่เปลี่ยนจุดหมายจากการเที่ยวในประเทศ เป็นการเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาถูกลง

ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคา เพื่อแย่งชิงนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาด้านอุปทาน ที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น ในช่องทางออนไลน์ และปัญหาขาดแคลนบุคลากร ที่มีฝีมือซึ่งมีต้นทุนค่าจ้างสูง ยังคงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญอีกประการ ของผู้ประกอบการที่เป็น Tech Startup

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ มองว่า ยังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังติดตาม คือ ปัจจัยทางด้านต้นทุน ของผู้ประกอบการ Startup ที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งค่าจ้างแรงงานผู้มีทักษะเฉพาะทาง ค่าเชื้อเพลิง และวัสดุอุปกรณ์

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ Startup ยังคงต้องการให้ภาครัฐ สนับสนุนในด้านเงินทุนโดยมีเงื่อนไขการกู้ยืม ที่ยืดหยุ่น โดยให้พิจารณาคำสั่งซื้อ หรือผลิตภัณฑ์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ และมีการผ่อนปรนการชำระหนี้ เมื่อประสบปัญหา รวมถึง การร่วมลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ และลงทุนเพิ่มเติม ในด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ อีกทั้งสนับสนุนด้านการหาตลาด และเพิ่มความรู้ด้านการลงทุน การส่งออก การขยายธุรกิจ ภาษี ตลอดจนด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น”

Exit mobile version