fbpx
News update

“อินโนฟอร์ฟาร์มเมอร์” เวทีจับคู่สตาร์ทอัพเกษตรกับบิ๊กเอกชน

Onlinenewstime.com : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการ Inno4Farmers จับคู่สตาร์ทอัพสาย Deep Tech หรือผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรเชิงลึก กับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ 10 ราย เพื่อส่งต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา ที่ตอบโจทย์ให้กับกลุ่มเกษตรกร และแก้ปัญหาของธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร อาทิ การลดความสูญเสีย การยกระดับการผลิต พร้อมขยายโมเดลธุรกิจดังกล่าวให้เติบโตในอนาคต

นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นส่งเสริมดีฟเทคโนโลยี ที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ ซึ่งมีความสำคัญของการทำเกษตรกรรมในประเทศไทย อาทิ เทคโนโลยี Artificial Intelligent หรือ AI การใช้ BigData  ,IoT และ Sensors รวมถึง ระบบโดรน (Drone) และหุ่นยนต์ (Robotics)

ดร.กริชผกา  บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า โครงการ Inno4Farmers  เป็นโครงการที่ NIA ต้องการที่จะพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่อยู่ในประเทศไทย ให้มีความแข็งแกร่ง และมุ่งยกระดับเทคโนโลยี ที่กำลังดำเนินการอยู่ ไปสู่เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech)

โดยขณะนี้มีสตาร์ทอัพที่ผ่านการพัฒนาโครงการ 10 ราย ซึ่ง NIA ได้เตรียมผลักดันให้สตาร์อัพเหล่านี้ ให้มีการขยายโมเดลการทำธุรกิจแบบ B2C ไปสู่ B2B ด้วยการจับคู่กับสตาร์ทอัพ กับบริษัทพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ 10 แห่ง เพื่อให้มีโอกาสทำงานร่วมทำงานกันอย่างเข้มข้น พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหา (Pain Points) ของภาคเกษตร

ทั้งนี้ สตาร์ทอัพทั้งหมดได้รับคำแนะนำ จากบริษัทพันธมิตรที่ร่วมโครงการ และเสริมกำลังความรู้ทั้งทางด้านเทคนิค กลยุทธ์ทางธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากนี้จะทำให้สตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีมสามารถตอบโจทย์ Pain points ในภาคเกษตรได้อย่างตรงจุด เกิดโมเดลธุรกิจที่เป็นรูปธรรม และต่อยอดได้จริง และทำให้สตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ มีความเข้าใจในธุรกิจเกษตรตรงตามความต้องการของตลาด รวมถึงสามารถนำโมเดลที่ได้ ไปต่อยอดขยายธุรกิจได้จริง

“สำหรับการดำเนินโครงการนี้ NIA มุ่งเน้นส่งเสริมดีฟเทคโนโลยี ที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ  ได้แก่ เทคโนโลยี Artificial Intelligent หรือ AI การใช้ BigData  ,IoT และ Sensors รวมถึง ระบบโดรน (Drone) และหุ่นยนต์ (Robotics) ซึ่งเทคโนโนโลยีดังกล่าว ถือว่ามีความเหมาะสมต่อบริบทการเกษตรในประเทศไทย

เนื่องจากไทยมีความพร้อม ทั้งในการนำเอาฐานข้อมูลด้านเกษตรกรรมที่มีอยู่จำนวนมาก มาพัฒนา ส่วน AI ก็สามารถต่อยอดได้จากฐานข้อมูลที่มีอยู่ ยิ่งถ้ามีการป้อนข้อมูล ให้ระบบเรียนรู้มากขึ้นเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้ระบบมีความฉลาดและแม่นยำเท่านั้น

ถัดมาที่ Sensors ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา ให้ควบคู่ไปกับการเกิดขึ้นของ 5G ระบบคลาวด์ สังคม – ธุรกิจที่ต้องการความแม่นยำ และการรายงานผลแบบเรียลไทม์ รวมถึงสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทย ที่ไม่สามารถควบคุมได้และไม่มีความแน่นอน

และในส่วนสุดท้ายคือหุ่นยนต์ ก็มีความจำเป็นอย่างมาก ในมิติของการทำงานแทนมนุษย์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและมนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ รวมถึงรองรับการลดลงของแรงงานภาคเกษตร ที่คาดว่าจะมีจำนวนไม่มากเท่ากับในปัจจุบัน”

ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือของเอกชนในครั้งนี้ ถือว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เนื่องจากธุรกิจด้านการเกษตรขนาดใหญ่ในประเทศไทย ล้วนกำลังมองหาเทคโนโลยีเชิงลึก ที่จะเข้ามาส่งเสริมระบบการผลิต ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงมองหานวัตกรรม ที่จะช่วยลดความสูญเสีย และการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่ผ่านมา

ดังนั้น NIA จึงได้ทำการจับคู่ (Matching) สตาร์ทอัพกับธุรกิจนวัตกรรมเกษตรทั้ง 10 ราย ตอบโจทย์ปัญหาของแต่ละธุรกิจ ประกอบด้วย

1. บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด และบริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจข้าว กับทีมสตาร์ทอัพ EASY RICE ผู้พัฒนาเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพข้าว ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

2. บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจปศุสัตว์ กับทีมสตาร์ทอัพ HyPerm&CheckMate ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม AI สำหรับการตรวจวัดคุณภาพของตัวอสุจิ และตรวจจับภาวะเป็นสัดในปศุสัตว์

3. บริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มครบวงจร กับทีมสตาร์ทอัพ Novy Drone อากาศยานไร้คนขับสำหรับการตรวจสอบป้องกันโรคและศัตรูพืช

4. บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ธุรกิจมันสำปะหลัง กับทีมสตาร์ทอัพ BSFR TECH เครื่องวัดปริมาณแป้งและคุณภาพของหัวมันสำปะหลังในแปลงปลูก แบบไม่ทำลายชนิดพกพา

5. บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำตาล กับทีมสตาร์ทอัพ Rodai Smart Farm เซ็นเซอร์วัดความชื้นในดินที่มีความแม่นยำสูง และทนทานต่อการใช้งาน

6. บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตข้าวโพดหวาน กับสตาร์ทอัพทีม OZT Robotics ผู้พัฒนาระบบ AI เพื่อตอบโจทย์ทางการเกษตร

7. บริษัท มานิตย์เจเนติกส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจฟาร์มสัตว์น้ำ กับทีมสตาร์ทอัพ Artificial anything เซ็นเซอร์แม่นยำสูง เพื่อตรวจสอบสารปนเปื้อนในของเหลวด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

8. บริษัท เอซีเคไฮโดรฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตผักสลัด กับทีมสตาร์ทอัพ Energy of Thing ระบบประหยัดพลังงานไฟฟ้าสำหรับการเกษตร

9. บริษัท เกษมชัยฟู๊ดส์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจฟาร์มเป็ดและไก่ กับสตาร์ทอัพทีม UpSquare ระบบควบคุมการเลี้ยงไก่ไข่แบบอัตโนมัติ

ทั้งนี้ การบ่มเพาะสตาร์ทอัพในครั้งนี้ จะเน้นไปที่การเชื่อมต่อทางธุรกิจ ที่จะเกิดการร่วมมือกันทำงานระหว่างสตาร์ทอัพและองค์กรพันธมิตรชั้นนำในภาคเกษตร ทำให้สตาร์ทอัพสายเกษตร ได้พิสูจน์ผลงาน ได้ลงมือทำงานจริงกับลูกค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจ ในขณะเดียวกันองค์กรที่ร่วมโครงการ ก็จะได้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงสร้างระบบนิเวศและต่อยอดธุรกิจ

และที่สำคัญยิ่งคือ การสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา ตอบโจทย์ให้กับเกษตรกร ก่อให้เกิดพลิกโฉมการเกษตร ตามนโยบายของรัฐบาล ดร.กริชผกา กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ และ Facebook