Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

เคล็ดลับง่าย ๆ ป้องกันอันตรายจาก “โรคแพ้แสงแดด”

Onlinenewstime.com : ถึงแม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่เราทุกคนต่างก็ยังเผชิญกับความร้อนแรงของแสงแดดในทุกๆวัน กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนังเผยเคล็ดลับง่าย ๆ ทำได้ทุกวันเพื่อป้องกันอันตรายจากโรคแพ้แสงแดด ซึ่งมีอาการคัน ไปจนถึงผิวหนังขรุขระอักเสบเหมือนคางคก น้ำเหลืองไหล ส่งผลกระทบเรื้อรังต่อการประกอบอาชีพและกิจวัตรประจำวัน

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่าโรคแพ้แสงแดด เป็นโรคที่เกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากการโดนแสงแดด สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเป็นอาการที่เกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยแสงแดด ส่วนใหญ่เกิดในผู้ชายสูงอายุถึงร้อยละ 90 จะมีผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณที่ถูกแสงแดด และมักจะรุนแรงและเรื้อรัง

ปัจจัยที่กระตุ้นอาการของโรคแพ้แสงแดด เช่นการใช้เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับผิวหนังมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร เกิดการสะสม และดูดซึมสารบางอย่างเข้าสู่ผิวหนังจนมีปริมาณมากพอ เมื่อออกไปโดนแสงแดด ทำให้เกิดอาการแพ้แสงแดด และการใช้ยาที่รักษาโรคทั่วๆ ไป เช่น ยาเบาหวาน เป็นต้นแ ต่โรคแพ้แสงแดดรักษาหายได้จากเคล็ดลับง่าย ๆ ด้วยการดูแลและป้องกันผิวหนังจากแสงแดด

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคแพ้แสงแดดส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมของสารบางอย่าง จากการใช้เครื่องสำอาง และการกินยาบางอย่าง เช่น ยาเบาหวาน ยาขับปัสสาวะ ยารักษาเชื้อรา และยากลุ่มซัลฟา ในกรณีที่แพ้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง แสงแดดจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น

หลังจากกินยาภายใน 7 วัน ถ้ามีอาการแพ้ยาและแพ้แดดจะมีผื่นแดง ตกสะเก็ด อาจมีน้ำเหลืองไหลในบางราย และมีอาการคันมาก ควรสังเกตและหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ แล้วหลีกเลี่ยง โดยการหยุดยา หรือเปลี่ยนเครื่องสำอางที่เคยใช้ อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายไปเอง

อาการเริ่มแรกของโรคแพ้แสงแดด จะคันบริเวณผิวหนังที่โดนแสงแดด มีผื่นแดงเฉพาะบริเวณนอกร่มผ้า ได้แก่ ใบหน้า หน้าผาก โหนกแก้ม คอ หน้าอก แขนด้านข้าง ขาส่วนนอกกางเกง หลังเท้า ถ้าอาการกำเริบมากขึ้น จะมีผื่นนูน คัน ตั้งแต่ศีรษะจนไปถึงข้อเท้า ผิวหนังมีอาการคล้ายผิวคางคก และบางทีมีน้ำเหลืองร่วมด้วย ซึ่งร่างกายจะแสดงอาการเมื่อผิวหนังโดนแสงแดดเป็นเวลานาน ผู้ป่วยโรคแพ้แสงที่มีอาการมาก ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง

เคล็ดลับง่าย ๆ ในการดูแลผิวหนังเพื่อป้องกันอันตรายจากแสงแดด คือหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด เป็นเวลานาน หากจำเป็นให้ใช้วิธีป้องกันโดยกางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อแขนยาว สวมแว่นตากันแสงแดด กินอาหารให้ครบถ้วน ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียง ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ทาครีมบำรุงผิว และครีมกันแดดสม่ำเสมอ

หากจำเป็นต้องสัมผัสสารเคมีที่ระคายเคือง ควรใช้วัสดุป้องกัน เช่น ถุงมือ รองเท้าบู๊ท หลีกเลี่ยงสถานที่มีมลพิษ ไม่ใช้สารเสพติด ไม่สูบบุหรี่ หมั่นสังเกตความผิดปกติของผิวหนัง เช่น สีผิวคล้ำมากขึ้น ผิวหนา หรือขรุขระมากขึ้น กดผิวแล้วเจ็บ ผิดปกติ หรือมีอาการชาที่ผิว ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

Exit mobile version