fbpx
News update

เปิดข้อค้นพบจาก “งานวิจัย” วิกฤตสถานการณ์ปัญหาสุขภาพประชากรข้ามชาติ “ความจริง” ที่ยังไม่เคยรับรู้

Onlinenewstime.com : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคี จัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 “สุขภาพคนข้ามชาติ ความจริงกับสิ่งที่รับรู้” เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ณ  มิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ

จากสถานการณ์ปัญหาสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ที่จำนวน และความหลากหลายของสภาพปัญหาเพิ่มมากขึ้น โดยประชากรข้ามชาติ ได้เข้ามาอยู่ร่วม เป็นส่วนหนึ่งของประชากรในประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธถึงผลกระทบทางสุขภาพ และการพัฒนาระบบ เพื่อรองรับปัญหาสุขภาพที่แยกขาดจากกันได้

ทั้งนี้  การศึกษาสถานการณ์ภาวะสุขภาพและโรคที่สำคัญของคนต่างด้าวในประเทศไทย (โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ)  รายงานภาระโรคปี 2559ระบุรายงานการตรวจคัดกรองสุขภาพ จากศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ในปี 2557 และปี 2559 พบภาวะสุขภาพที่พบเป็นอันดับต้นๆ ในคนต่างด้าว ได้แก่ การตั้งครรภ์ และวัณโรค

นอกจากนี้ ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรคติดต่อ ปี 2560 พบว่า โรคติดต่อในคนต่างด้าว 3 สัญชาติทั้งเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา มีรายงานเข้ามามาก 3 อันดับแรก ได้แก่ ท้องร่วง ไข้หรือไข้ไม่ทราบสาเหตุ และโรคปอดบวม/ปอดอักเสบ

และจากรายงานสถานการณ์และความเปราะบางด้านสุขภาวะเด็กข้ามชาติในประเทศไทย  (โดยศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ประเมินว่าเด็กข้ามชาติในประเทศไทย มีประมาณ 2.5 แสนคน โดยมีประกันสุขภาพสาธารณสุขเพียง 4.7 หมื่นคน แม้ประเทศไทย ได้ให้การคุ้มครองเด็กข้ามชาติ ทั้งการจดทะเบียน และให้ใบรับรองการเกิด การให้วัคซีนป้องกันโรค  แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ พบว่ามีเด็กข้ามชาติจำนวนไม่น้อย ไม่มีเอกสารประจำตัว ส่วนหนึ่งมีภาวะทุพโภชนาการ  และจำนวนไม่น้อย ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพ

จึงเป็นความเสี่ยง สำหรับเด็กข้ามชาติ ที่อาจเจ็บป่วยจากโรคที่สามารถป้องกันได้ รวมทั้งระบบไม่ครอบคลุมเด็ก ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ติดตามแรงงาน หรืออยู่นอกระบบ เป็นต้น

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า “แม้ประเทศไทย จะมีมาตรการความร่วมมือระหว่างและภายในประเทศ โดยหน่วยงานหลายภาคส่วน แต่ความท้าทายของการพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยขจัดอุปสรรค ในการเข้ารับบริการทางสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบนั้น เป็นประเด็นท้าทายใหม่ในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรคติดต่อ ที่เคยป้องกันได้และกลับมาอุบัติใหม่  ตลอดจนโรคติดต่อสำคัญ  ระบบการจัดการ และเชื่อมต่อบริการระหว่างประเทศ ระบบสารสนเทศสุขภาพแรงงานต่างด้าว เด็กข้ามชาติ ที่มีหลากหลายกลุ่มหลายสถานะ

ขณะที่กลไกอภิบาลระบบ และนโยบายเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ยังขาดเจ้าภาพหลัก  กลุ่มประชากรชาวเขา/ชายแดน หรือราษฏรบนพื้นที่สูง ไม่มีสัญชาติไทย เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ  รวมทั้งยังต้องพัฒนาวิธีการสากล เพื่อให้บริการด้านสุขภาพ ในกลุ่มประชากรข้ามชาติมีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืนสำหรับประเทศไทย”

ด้าน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “สำหรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายระยะ 20 ปี กำหนดว่าประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งบุคคล ที่มีปัญหาสถานะสิทธิและคนต่างด้าว จะต้องได้รับความเป็นธรรม ในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพ และภายในระยะเวลา 5 ปี (2561- 2565) ต้องมีระบบการคุ้มครองด้านสุขภาพ สำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ รวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทย

ตลอดจนมีร่างกฎหมาย สำหรับระบบการคุ้มครองด้านสุขภาพฯ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพในประเทศไทย ป้องกันและลดความเสี่ยงทางสุขภาพ จากการระบาดของโรคติดต่อในประเทศไทย รวมทั้งลดปัญหาการเงินการคลังสุขภาพทั้งของผู้ป่วยข้ามชาติ และของสถานพยาบาลที่ให้บริการในอนาคต”

ทั้งนี้ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการจัดประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ประจำปี 2562 สรุปสาระสำคัญ จากการประชุมฯ ว่า “เป็นการระดมข้อมูลสถานการณ์สำคัญ ที่ได้จากการค้นพบ จากงานวิจัย และการปฏิบัติการของคนทำงาน กับกลุ่มประชากรข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ทั้งคนทำงานที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษาทั้งในระดับประเทศและสากล เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหา และพัฒนาสุขภาพ ซึ่งมีประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบายและการวิจัย ดังนี้

  1. การอภิบาลระบบ ควรจัดให้มีกลไกการอภิบาลระบบ และนโยบายประชากรข้ามชาติ, เน้นเงื่อนไขการตรวจสุขภาพของแรงงาน โดยเฉพาะโรคติดต่อที่จำเป็น จากประเทศต้นทาง ก่อนเข้ามาทำงานในประเทศไทย, พัฒนาระบบการส่งต่อ การติดตามประเมินผลการรักษา ของผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติระหว่างประเทศ, กระทรวงสาธารณสุข ควรปรับปรุงระเบียบการจ้างงานพนักงานสาธารณสุขต่างชาติ (พสต.) และพัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการสุขภาพและ พสต./อสต. ในระดับพื้นที่
  2. ระบบบริการ/กำลังคน ควรปรับระบบบริการการดูแลสุขภาพอย่างมีมนุษยธรรม “Humanized Health Care” ให้สอดรับกับความหลากหลายของประชากรข้ามชาติ, การคัดเลือกคนบนพื้นที่สูง มาเรียนและให้กลับไปทำงานในพื้นที่, การศึกษาวิจัยพัฒนานวัตกรรมบริการสุขภาพและวิจัยดำเนินงาน
  3. ระบบการเงินการคลัง/ประกันสุขภาพ ควรมีหลักประกันสุขภาพสำหรับบริการสุขภาพพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะโรคติดต่อ เช่น วัคซีนพื้นฐาน (EPI) วัณโรค เป็นต้น, พัฒนาระบบการจัดประกันสุขภาพประชากรข้ามขาติที่ บูรณาการและมีประสิทธิภาพ,วิจัยติดตามประเมินภาวะสุขภาพ และการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติ

ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จะนำไปพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการพัฒนาหรือแก้ปัญหาสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ที่มีความหลากหลายและสลับซับซ้อน โดยใช้องค์ความรู้จากการวิจัยในการกำหนดทิศทางและบูรณาการการทำงาน ที่สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ รวมทั้งใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ และขับเคลื่อนการทำงานในแต่ละระดับ ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะต่อสู้กับความท้าทายของปัญหาสุขภาพประชากรข้ามชาติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป