Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

เปิดตัวนวัตกรรม “โคแฟค-Cofact” ชุมชมค้นหาความจริง

Onlinenewstime.com เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ธนาคารจิตอาสา มูลนิธิฟรีดิช เนามัน และภาคีเครือข่ายป้องกันและตรวจสอบข่าวลวง จัดงานเสวนานักคิดดิจิทัลครั้งที่ 11 เปิดตัวโคแฟค “ทำไมความจริงร่วมจึงสำคัญ” พร้อมปฐมนิเทศจิตอาสา พัฒนาทักษะด้านเท่าทันสื่อและสุขภาวะทางปัญญารุ่นแรก

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ประเทศไทย มีสถานการณ์การระบาดของข่าวลวง อาทิ การหลอกขายสินค้า ภัยพิบัติ สุขภาพ ซึ่งหากประชาชนไม่เท่าทันสื่อ ตกเป็นเหยื่อ หรือส่งต่อข่าวปลอมโดยไม่รู้ตัว

แนวทางการแก้ปัญหา และหยุดยั้งการระบาดของข่าวลวง ในยุคชีวิติวิถีใหม่ (New Normal) จึงจำเป็นที่จะต้องมีกลไกกลาง ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคน ได้มาแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกัน โดยจุดประกายด้วยนวัตกรรม โคแฟค (Collaborative Fact Checking : Cofact) บนเว็บไซต์ cofact.org และไลน์ @cofact พร้อมสานพลังขับเคลื่อนสังคม ขยายผู้ใช้ไปยังภาคีเครือข่าย

เกิดเป็น “ชุมชนโคแฟค” และสร้างค่านิยมใหม่โดยใช้พลังพลเมือง ในการร่วมตรวจสอบข่าวลวง ที่ทุกคนสามารถเป็น fact cheker เกิดพื้นที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงประเด็นสุขภาวะร่วมกัน

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค กล่าวว่า โคแฟคเป็นนวัตกรรมทางสังคม ในการนำแอปพลิเคชั่นไลน์ แชตบอท และฐานข้อมูลในเว็บไซต์ มาช่วยตรวจสอบข้อมูลว่าจริงหรือลวง แต่การจะขับเคลื่อนกลไกโคแฟคให้สำเร็จได้จริงนั้น จึงต้องขยายงานจากการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ไปสู่การสร้างชุมชนเพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ถือเป็นภารกิจการปฏิรูปสื่อในยุคดิจิทัล ที่หันกลับมาสร้างความเข้มแข็งในภาคพลเมือง ให้การแก้ไขข่าวลวงด้วยหลักวารสารศาสตร์ เช่น การสืบค้นข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือก่อนเสมอ กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของสังคม

นายธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า ปัจจุบันข่าวลวง มีหลากหลายรูปแบบ ประชาชนไม่ทันได้ตรวจสอบข้อมูล การมีจิตอาสา ที่เข้าร่วมกระบวนการตรวจเช็คข่าวลวงจึงจำเป็นจะต้องมีทักษะทั้ง 2 ด้าน คือ 1. ด้านตรรกะความคิดในการตรวจสอบข่าว และ 2. ด้านทักษะในการสะท้อนคิด เข้าใจและเท่าทันตัวเอง

การปฐมนิเทศครั้งแรก ธนาคารจิตอาสา มุ่งต่อยอดสู่การสร้างจิตอาสา ที่เป็นกำลังสนับสนุนที่แข็งแรง ทั้งในด้านการเช็คความจริงของข่าว และการดูแลคนแวดล้อม ที่ได้รับผลกระทบจากข่าวลวง

ดร.ณภัทร เรืองนภากุล รองคณบดีคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้ประสานงานเครือข่ายโคแฟคภาคเหนือ กล่าวว่า ผลกระทบของข่าวลวงต่อชีวิตนั้น เป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ข้อมูลลวงที่ถูกผลิตซ้ำ ๆ จะทำให้เกิดความเชื่อผิด ๆ ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

เราต่างทราบกันดีว่าพลังของพลเมืองนั้น มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อน และเปลี่ยนผ่านสังคม กลไกของโคแฟคตอบโจทย์ ทั้งการเก็บข้อมูลและการมีส่วนร่วม เหมาะสมกับวิถีของคนยุคดิจิทัล จึงเชื่อว่าการเข้าร่วมเป็นจิตอาสาเครือข่ายโคแฟค (ภาคเหนือ) จะทำให้ทุกพื้นที่ ได้ฝึกการใช้วิจารณญาณ เปิดใจรับความเห็นต่าง ร่วมกันตรวจสอบข่าวลวง ทำให้สังคมไทย ก้าวสู่การเป็นสังคมที่รู้เท่าทันสื่อส่งผลต่อคุณภาพในการดำเนินวิถีชีวิตต่อไป

ทั้งนี้ โคแฟค เชิญชวนทุกท่าน ให้มาเป็นชาวชุมชนคนโคแฟคร่วมกันค้นหาความจริง เพื่อสร้างสุขภาวะของสังคม สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับที่ เว็บไซต์

Exit mobile version