onlinenewstime.com : จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระรอกใหม่ (18 ธันวาคม 2563) ที่ส่งผลให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชนปิดการเรียนการสอน
ล่าสุดประกาศจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้สถานศึกษาทุกจังหวัด ยกเว้นสมุทรสาคร เปิดตามปกติตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป
ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทย วันที่ 31 มกราคม 2564 ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 829 คน ได้สร้างข้อกังวลให้บรรดาพ่อแม่ ถึงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงเรียน
ทั้งนี้มีข้อมูลที่ระบุว่าเด็กเล็กมีอัตราการติดเชื้อไวรัสน้อยกว่าเด็กวัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงมากกว่า
จากรายงาน องค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) และ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (ECDC: European Centre for Disease Prevention and Control ) เรื่องความเสี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อในโรงเรียน พบว่ามี การรายงานไปในทิศทางเดียวกัน ถึงผลการศึกษาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงเรียนมีในระดับต่ำ
ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในปี 2020 ทีผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากที่บ้านมากกว่าการติดเชื้อจากโรงเรียน
ในด้านช่วงอายุการติดเชื้อของเด็กระดับประถมนั้น จากการศึกษาพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี มีอัตราการรับเชื้อ และอัตราการติดเชื้อต่ำกว่าผู้ใหญ่
ในขณะที่เด็กอายุมากกว่า 10 ปีและวัยรุ่นไม่มีความแตกต่างกับผู้ใหญ่มากนัก
สาเหตุของการติดเชื้อในโรงเรียน ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากเด็กแพร่เชื้อให้กัน แต่มักจะเกิดในผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่ และอัตราการติดเชื้อจากผู้ใหญ่มาสู่เด็กในโรงเรียน พบว่ามีรายงานในตัวเลขที่น้อย
ข้อสังเกตอาการติดเชื้อของเด็ก
เด็กที่ติดเชื้อพบว่าส่วนใหญ่แสดงอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการ และเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ทั่วไป เชื่อไวรัสในเด็กจะพบที่จมูก และคอ แต่พบอัตราการกำจัดที่รวดเร็วกว่าในเด็ก
ในประเทศที่มีอัตราการแพร่กระจายของเชื้อต่ำ การเปิดโรงเรียนไม่ใช่สาเหตุให้เกิดการแพร่กระจายมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการเฝ้าระวัง และตรวจสอบอย่างเข้มข้น ตามมาตรฐานของแผนป้องกันการแพร่ระบาด
ผลกระทบจากการ’ปิดโรงเรียน’
การปิดโรงเรียนมีผลกระทบต่อการความสามารถในการเรียนรู้ และยิ่งมีการปิดโรงเรียนนานมากเท่าไร เด็กที่มีความเปราะบางด้านการศึกษา อาจไม่ได้กลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาอีก
การปิดโรงเรียน ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของบริการต่างๆในโรงเรียน เช่น การฉีดวัคซีน มื้อกลางวันของโรงเรียน การดูแลทางด้านสุขภาพจิตต่างๆในเด็ก
ที่สำคัญการที่เด็กไม่อยู่ในรั้วของสถานศึกษา จะเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาที่ตามมา เช่น การตั้งครรภ์ การเสพยาเสพติด โรคซึมเศร้า และความรุนแรงอื่นๆ
ความเสี่ยงและอันตรายต่างๆ ยิ่งจะมีอัตราที่สูงมากขึ้นในกลุ่มเด็กเปราะบาง เช่น ผู้อพยพ คนต่างด้าว และอยู่ในครอบครัวที่เป็นกลุ่มเปราะบาง
ข้อควรปฏิบัติของโรงเรียนเมื่อมีการ’เปิดเรียน‘
ความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ครอบครัวและชุมชนถือเป็นประเด็นที่สำคัญมาก โดยแนะให้ดำเนินการภายใต้แนวทางดังนี้
- สร้างระบบการสื่อสาร และความร่วมมือที่ดีระหว่างผู้ปกครอง นักเรียน และครู
- มีระบบการป้องกัน และตรวจสอบ พร้อมรายงาน และกักตัวทันทีที่พบการติดเชื้อ
- โรงเรียนต้องเคร่งครัดในการจำกัดจำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนให้เหมาะสมกับการรักษาระยะห่าง งดเว้นการนำเด็กจากต่างชั้นเรียนมารวมกัน จัดห้องเรียนให้มีระยะห่างที่ปลอดภัย
- มีข้อกำหนดที่ชัดเจนเรื่องการป้องกันตนเอง โดยเด็กต้องเข้าใจเรื่องการรักษาความสะอาด และการสวมหน้ากาก ให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และมีการตรวจสอบ วัดผลรายวัน
- มีการรักษาความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอทั้งในโรงเรียน และในรถโดยสารสาธารณะ
กรณีกลุ่มอาการของโรคที่มีการแสดงอาการในเด็ก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโควิด – 19 จากการประเมินความเสี่ยงของ ECDC พบว่าเป็นเหตุการณ์ที่พบยาก โดยการวิเคราะห์จากเคสมากกว่า 1.8 ล้านรายการของกลุ่ม EU / EEA ที่ส่งไปยัง TESSy ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. – 29 พ.ย. 2020 แสดงให้เห็นถึงข้อสังเกตดังนี้
- เด็กอายุ 1-11 ปี (รวมอายุน้อยกว่า 1 ปี) พบอัตราน้อยกว่าค่าที่แสดง โดยเปรียบเทียบกับประชากรทั่วไป อย่างไรก็ตามสัดส่วนของผู้ป่วยในเด็กอายุ 12-15 ปี และ 16-18 มีค่าเท่ากันหรือสูงกว่าเล็กน้อยกับประชากรผู้ใหญ่)
- เด็กทุกช่วงอายุ ไม่แสดงตัวเลขของการเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง (การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลการรักษาในโรงพยาบาลแบบอาการรุนแรง ICU ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต)
- ตัวเลขของเด็กที่เป็นผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต อยู่ในระดับที่ต่ำมาก
- ความเสี่ยงในการติดเชื้อและมีอาการรุนแรงแบ่งตามช่วงอายุ พบช่วงอายุของเด็กอยู่ในความเสี่ยงที่ต่ำมาก แต่จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่ใกล้เคียงกับวัยผู้ใหญ่
ที่มา: ข้อมูลที่รวมรวมไปยัง TESSy จากประเทศออสเตรีย, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, เยอรมนี, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, มอลตา, นอร์เวย์, โปแลนด์ และสโลวาเกีย สถิติระหว่างวันที่ 1 ส.ค. – 29 พ.ย. 2020 และเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ ของการรักษาตัวในโรงพยาบาล การรักษาในห้อง ICU หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ