onlinenewstime.com : วิวัฒนาการของแชร์ลูกโซ่ มีการเปลี่ยนรูปแบบที่แตกต่างตามยุคสมัย จากอดีตที่มีการชักชวน โดยใช้ “เงิน” มาเป็นตัวกลางของการลงทุน ต่อมาเปลี่ยนมาสู่รูปแบบของการใช้สินค้าเป็นตัวกลางในระบบขายตรง และวันนี้ปรับเปลี่ยนสู่การนำโทเคน หรือ สกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) ที่เป็น “คริปโตปลอม” มาเป็นตัวกลางในการหลอกลวงเหยื่อ
ดังนั้นนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนใน สกุลเงินดิจิทัลนั้น จะต้องเรียนรู้ถึงวิธีการล่อเหยื่อในรูปแบบใหม่ ที่พัฒนามาไกลตามกระแสโลก จากการกำเนิดสกุลเงินดิจิทัลแรก บิทคอยน์ และปัจจุบันมีผู้ใช้เงินตราแบบดิจิทัล 2.9 ถึง 5.8 ล้านคน โดยส่วนใหญ่แล้วคือบิตคอยน์
เช่นเดียวกันแชร์ลูกโซ่เอง ก็มีการสื่อสารถึงเหยื่อว่า เป็นเงินดิจิทัลของ สกุลใหม่ที่มีโอกาสร่ำรวย ระดับอภิมหาเศรษฐีได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว
ซึ่งหากมีการชี้ชวนให้ลงทุนเงินสุกลดิจิทัลของบริษัท และมีการเทรดด้วยนั้น ตรวจสอบรายละเอียดรายชื่อ “ผู้ที่มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจ” ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในช่องทาง นี้
จะเป็นอีกแนวทางที่สำคัญ ที่ทำให้นักลงทุนรอดจากหายนะเงินสกุลดิจิทัลปลอม
“สตช.” เตือนแชร์ลูกโซ่รูปแบบใหม่ชวนลงทุนผ่านเงินดิจิทัลปลอม
เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมานั้น หลายสำนักข่าว มีรายงานพิเศษเรื่องการกลับมาแพร่ระบาดของแชร์ลูกโซ่ โดยสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ (25 มิ.ย. 2561 ) รายงานว่า ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุ แชร์ลูกโซ่กลับมาระบาดอีกครั้ง พร้อมกลลวงใหม่ ที่เป็นการชักชวนลงทุนผ่านเงินดิจิทัลปลอม
ซึ่งรูปแบบการหลอกลวงของเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ ยังคงมีลักษณะเดิมๆ คือ การระดมเงินจากคนหมู่มากด้วยการเสนอผลตอบแทนมูลค่าสูง โดยอาศัยกลอุบายทางการลงทุนในแบบที่เป้าหมายแต่ละกลุ่มให้ความสนใจ โดยเฉพาะปัจจุบัน ที่มีการใช้เงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี่
ตั้งแต่ปี 2558 ที่มีการกวาดล้างเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ยูฟัน ซึ่งเป็นมีสมาชิกมากกว่า 120,000 ราย จนทำให้เครือข่ายแชร์ลูกโซ่รายอื่นๆ เกรงกลัวและปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบัน พบว่า เริ่มมีกลุ่มธุรกิจในลักษณะแชร์ลูกโซ่กลับมาแพร่ระบาดในสังคมไทยอีกครั้ง ซึ่งในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา พบมีผู้เสียหายแล้วกว่าแสนราย
พลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า กลุ่มมิจฉาชีพบางส่วน จะอาศัยความสนใจในกระแสคริปโตเคอเรนซี่ของประชาชน เข้ามาหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ แตกต่างไปตามกลุ่มอายุ อาทิ การจะเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น อาจชักชวนลงทุนผ่านคริปโตเคอเรนซี่ปลอม ด้วยการจูงใจที่ตัวเงินหรือผลตอบแทนที่ได้มาโดยง่าย เพื่อการจับจ่ายใช้สอย ส่วนการเข้าถึงกลุ่มคนอายุ 40 ขึ้นไปหรือกลุ่มข้าราชการ อาจชักชวนให้ลงทุนทางการเงินในฟิวเจอร์ หรือ Forex เนื่องจากคนกลุ่มนี้ จะอยากมีรายได้เพิ่มเติมจากเงินเดือนประจำ
สำหรับการดำเนินงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังพบข้อมูลของกลุ่มแชร์ลูกโซ่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีการติดตามกลลวงที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึง พยายามให้ความรู้แก่ประชาชนถึงกลโกงต่างๆ ของกลุ่มแชร์ลูกโซ่อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ พร้อมดำเนินคดีกับกลุ่มแชร์ลูกโซ่ในทุกมูลฐานความผิดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อตัดโอกาสการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินและเยียวยาประชาชนที่ถูกหลอกลวงให้ได้มากที่สุด
การแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่นี้ ไม่เพียงจะอาศัยมาตรการจากทางภาครัฐเท่านั้น แต่ภาคประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมได้ โดยสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ ได้เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งหน่วยงาน เพื่อดูแลคดีแชร์ลูกโซ่โดยเฉพาะ เนื่องจาก คดีประเภทนี้ จะมีสมาชิกผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน หากมีหน่วยงานเฉพาะ เชื่อว่า จะทำให้การดำเนินคดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่อาจต้องปรับปรุงกฎหมายให้เจ้าหน้าที่รัฐ มีอำนาจในการตรวจสอบธุรกิจต้องสงสัยได้ตั้งแต่ต้น เพื่อยับยั้งความเสียหายก่อนขยายวงกว้าง
ด้าน เพจสมาคมต่อต้านแชร์ลูกโซ่ ก่อนหน้านี้ มีการโพสต์บทความ “ผวา! แชร์ลูกโซ่ใหม่กลายพันธุ์ เชิญชวนลงทุนสกุลเงินดิจิทัล” (8 เมษายน 2016) ที่กล่าวว่า วิกฤติแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบ สกุลเงินดิจิทัลจะหวนกลับมาหลอกหลอนประชาชนให้ตกเป็นเหยื่ออีกครั้ง หลังยูฟันด์สโตร์ได้สร้างความเสียหาย ทำลายประชาชนที่หลงเชื่อรูปแบบการลงทุนดังกล่าว จนมีมูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาทไปแล้ว แต่เชื้อร้ายดังกล่าวก็ยังไม่หมดไป เพราะยังมีสกุลเงินดิจิทัลใหม่ เดินตามรอยให้เห็นกันในปัจจุบัน แต่จะเปลี่ยนการลงทุนจาก สกุลเงินยูโทเคน เป็นสกุลอื่น โดยอ้างอิงว่า เป็นนวัตกรรมใหม่ของสกุลเงินดิจิทัล
สำหรับข้อสังเกตแชร์ลูกโซ่สกุลเงินดิจิทัลนั้น นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวชนหลายสำนักถึง วิธีการตรวจสอบว่า จะมีการชักชวนลักษณะให้ร่วมลงทุนในสกุลเงินรูปแบบใหม่ของต่างประเทศ ที่มีข้อสังเกตได้ง่ายๆ ว่าเป็นสกุลเงินดิจิทัล ที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากธนาคารแห่งประเทศไทยและแต่ละกลุ่มสร้างขึ้นเองบนเว็บไซต์ โดยมีการสร้างความน่าเชื่อถือโดยอ้างอิงราคาจากเว็บต่างประเทศ และบางกลุ่มยังบอกว่าเงินเหรียญสกุลดิจิทัลที่ได้ไป มีมูลค่าสามารถนำไปซื้อบ้านหรือคอนโดในต่างจังหวัดได้ตามกฏหมาย
ในส่วนของวิธีการนั้น ขยายแผนธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์ขายตรง ที่มีการเปลี่ยนจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาเป็นเหรียญสกุลเงินดิจิทัล โดยมีพฤติกรรมสร้างเรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับวิธีการซื้อสกุลเงินต่างประเทศ ให้สมาชิกจะต้องซื้อแพคเกจหลักหมื่น เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนจากการขายเหรียญได้ในราคาหลักแสน รวมถึงจะมีค่าแนะนำสมาชิกใหม่อีก 10 % จ่ายเป็นเหรียญในระบบให้เอามาขายเอง
อย่างไรก็ตาม Online Newstime ตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยความสะดวกในการเข้าถึงเหยื่อในรูปแบบการลงทุนผ่านออนไลน์ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อมากกว่า 1 พันราย และมีมูลค่าความเสียหายสูงถึงพันล้านบาท
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์ 2561)นายสามารถ ร่วมกับผู้เสียหายแชร์ลูกโซ่เงินดิจิทัล 80 ราย เข้าร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอความช่วยเหลือในเรื่องคดี
รวมถึงยังเรียกร้องให้ประชาชนผู้เสียหายแชร์ลูกโซ่เงินดิจิทัล ที่เคยตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่เงินดิจิทัลนี้เข้าร่วมลงชื่อเพื่อแจ้งความดำเนินคดีที่ดีเอสไอ เพราะพบว่ามีจำนวนผู้เสียหายมากกว่าพันคน รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดคาดว่าตอนนี้จะสูงถึงพันล้านบาท พร้อมเตือนว่าหากมีคนชักชวนในลักษณะนี้ ก็ให้หลีกเลี่ยง เพราะสุดท้ายจะกลายเป็นเหยื่อ เกิดความเสียหาย และไม่สามารถติดตามทรัพย์สินที่ถูกหลอกไปมาคืนได้