มีรายงานการใช้คอนแทคเลนส์ที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ทั้งชนิดที่นำมาใช้เพื่อแก้ไขสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น ยาว เอียง รวมถึงชนิดที่ใช้เพื่อความสวยงาม ได้แก่ คอนแทคเลนส์ตาโต (Big eyes) คอนแทคเลนส์เปลี่ยนสีตา(Colored contact lens) คอนแทคเลนส์คอสเพลย์ (Cosplay) ที่มีลวดลายต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นและวัยทำงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคอนแทคเลนส์จะมีประโยชน์ต่อการส่งเสริมบุคลิกภาพ และสร้างความมั่นใจให้ผู้สวมใส่ ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่กลับมีข้อมูลท ี่ชี้ว่ามีผู้สวมใส่จำนวนมากท ี่มิได้ตระหนักถึงผลร้าย ที่อาจเกิดขึ้น และหลายครั้งมีความรุนแรง จนถึงขั้นสูญเสียดวงตาได้ถ ้าเกิดการอักเสบติดเชื้อที่กระจกตา
พญ. สมพร จันทรา จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตา โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า กระจกตา นับเป็นสิ่งหนึ่ง ที่มีความบอบบางเป็นอย่างมาก เพราะกระจกตามีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อใส อยู่ในส่วนหน้าสุดของลูกตา มีรูปร่างโค้ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีหน้าที่หักเหแสง เพื่อให้ตาเรามองเห็น
แต่ด้วยลักษณะเฉพาะของกระจกตา ที่มีความบอบบางเช่นเดียวกับเนื้อเยื่ออ่อนอื่นๆ ในร่างกาย จึงมีความเสี่ยงต่อการอักเสบได้สูง โดยเรียกอาการอักเสบ ของเนื้อเยื่อกระจกตา ที่เรียกว่า “โรคกระจกตาอักเสบ” ซึ่งสามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุ และพบได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการติดเชื้อจากพฤติกรรมเสี่ยง หรือการไม่ติดเชื้อ อันเป็นผลมาจากโรคอื่นๆ อาทิ โรคภูมิแพ้ โรคแพ้ภูมิตนเอง เป็นต้น
จากข้อมูลทางสถิติล่าสุด ระหว่าง ปี 2550 -2554 โดยมหาวิทยาลัยรามาธิบดี พบว่ามีผู้ป่วยจากการติดเชื้อกระจกตา 435 ราย และยังคงมีแนวโน้ม ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนมาก จะมีสาเหตุจากการมีอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นกับดวงตา เช่น มีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา และเป็นที่น่าสนใจว่า สาเหตุที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน คือการใช้คอนแทคเลนส์ โดยพบมากในกลุ่มอายุระหว่าง 15-25 ปี
อาการของโรคกระจกตาอักเสบ ได้แก่ ตาแดง เจ็บตา มีขี้ตา ตามัว สู้แสงไม่ได้ มีน้ำตาไหลมากตลอดเวลา เมื่อตรวจตา อาจพบมีแผลจุดขาวที่กระจกตา กระจกตาฝ้า กระจกตาบาง บวม มีหนองในช่องหน้าม่านตา โดยอาการ และความเร็วของการดำเนินโรค จะขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น กระจกตาทะลุ การอักเสบลุกลามเข้าไปในน้ำวุ้นตา ต้อหินแทรกซ้อน ต้อกระจกแทรกซ้อน และในบางรายอาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด
สำหรับการรักษาจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ ตามความรุนแรงของโรค โดยมีการรักษาที่สำคัญ คือ การหยอดยาปฏิชีวนะ ตามชนิดของเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นรุนแรง อาจต้องหยอดยาทุก 15 นาทีในระยะแรก และลดความถี่เมื่อมีอาการดีขึ้น
กรณีที่การติดเชื้อรุนแร งและลงในชั้นลึก ของกระจกตา แพทย์จำเป็นต้องฉีดยา เข้ากระจกตาเพื่อบรรเทาอาการ ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้ เนื่องจากแผลมีขนาดใหญ่ ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ดื้อต่อการใช้ยา หรือกระจกตาทะลุ อาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา เพื่อตัดเอากระจกตาที่ติดเชื้อออก
การป้องกันการติดเชื้อที่กระจกตา โดยทั่วไปคือ รักษาความสะอาด และสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา โดยไม่จำเป็น ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา เช่น ใส่แว่นตานิรภัย ที่มีกระจกกันกระแทกด้านข้าง เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงาน ที่อาจเกิดอันตรายกับดวงตา หรือรักษา และควบคุมโรคประจำตัว อย่างเช่นเบาหวาน ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและดูแลสุขภาพโดยทั่วไป ให้แข็งแรง แต่สำหรับผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ ที่ต้องมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่กระจกตาสูง ควรมีการดูแลและป้องกัน ดังนี้
- การตรวจตาจากจักษุแพทย์ เพื่อประเมินว่าตนเองมีโรค ที่พึงระวังในการใส่คอนแทคเลนส์หรือไม่ เช่น โรคตาแห้ง โรคภูมิแพ้ โรคตาอักเสบ ซึ่งบางโรค จำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาเป็นประจำ ซึ่งอาจมีผลกับการใส่คอนแทคเลนส์ สำหรับการตรวจค่าสายตา ค่าความโค้งของกระจกตาเพื่อเลือกชนิด ขนาดของเลนส์และค่าสายตาที่เหมาะสม พร้อมรับฟังแนะนำ การดูแลรักษาความสะอาดคอนแทคเลนส์ ที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญ
- การเลือกซื้อคอนแทคเลนส์ ควรเลือกจากสถานที่ ที่มีความน่าเชื่อถือ และได้รับการอนุญาตนำเข้าคอนแทคเลนส์ที่ถูกต้อง หากเป็นผู้รับมาจำหน่ายต่อ ก็ควรมีหนังสือรับรอง จากบริษัทผู้ผลิต ว่าเป็นคอนแทคเลนส์ ที่ได้มาตรฐานและถูกกฎหมาย รวมถึงไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์มือสอง ที่ผ่านการใช้งาน หรือมีรอยเปิดบรรจุภัณฑ์มาก่อน
- ศึกษาขั้นตอนการใช้งานที่ถูกต้อง และการทำความสะอาด โดยควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ และเช็ดให้แห้ง ก่อนใส่และถอดคอนแทคเลนส์เสมอ พร้อมปฏิบัติ ตามวิธีการล้างคอนแทคเลนส์ อย่างเคร่งครัด โดยไม่ล้างด้วยน้ำประปา หรือน้ำเกลือเพียงอย่างเดียว
- ใช้คอนแทคเลนส์ ตามระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น เช่น รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรักษาความสะอาด ของตลับแช่เลนส์ โดยล้างสบู่ให้สะอาด ผึ่งให้แห้งทุกครั้ง หลังใช้งาน และควรเปลี่ยนตลับใหม่ทุกเดือน
- ใส่คอนแทคเลนส์ เฉพาะเวลาที่จำเป็น ควรใส่คอนแทคเลนส์ ด้วยจำนวนชั่วโมงที่น้อยที่สุด แต่ไม่ควรนานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และควรมีเวลาพักตา จากการใส่คอนแทคเลนส์ ในช่วงเวลาที่ไม่ต้องใช้สายตาอย่างเช่น วันหยุด เพื่อป้องกัน การเกิดภาวะกระจกตาขาดออกซิเจน ภาวะเส้นเลือดงอกใหม่ ที่กระจกตา เยื่อบุตา และกระจกตาอักเสบ
“การตระหนักถึงสัญญาณ บอกอาการเสี่ยงเป็นโรคกระจกตาอักเสบ เป็นสิ่งที่สำคัญ และเมื่อมีอาการดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาปฎิชีวน ะมาใช้เองเพื่อหลีกเลี่ยงการดื้อยาในอนาคต แต่ควรรีบพบจักษุแพทย์ อย่างเร็วที่สุด เนื่องจากการรักษาในระยะแรกเริ่ม มักจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า ทั้งยังช่วยลดการสูญเสียการมองเห็นและการสูญเสียดวงตาได้มากยิ่งขึ้น” พญ.สมพร กล่าว