Onlinenewstime.com : วันนี้ (27 ส.ค.65) ที่เขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล และ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ลงพื้นที่ ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
โดยมี นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายชูพงศ์ อิศรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ นายนรเศรษฐ์ ฤกษ์สงเคราะห์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ นายชวลิต ฉลอม ผู้อำนวยส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12 และผู้เกี่ยวข้อง บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ปัจจุบัน (27 ส.ค.65) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำในเขื่อน 426 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 533 ล้าน ลบ.ม. และมีการระบายน้ำในอัตรา 410 ลบ.ม./วินาที
เมื่อรวมกับน้ำจากคลองชัยนาท – ป่าสักแล้ว จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตรา 492 ลบ.ม./วินาที โดยจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ยกเว้นบริเวณชุมชนวัดสะตือ อ.ท่าเรือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำติดริมแม่น้ำ
กรมชลประทาน ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบและอพยพขึ้นที่สูงเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ หากมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่องในระยะนี้ ตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่จะส่งผลให้เขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำสูงขึ้นเกินเกณฑ์ที่กำหนด กรมชลประทาน จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำให้อยู่ในอัตรา 500 ลบ.ม./วินาที
โดยจะทยอยปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ พร้อมบริหารจัดการน้ำด้านท้ายเขื่อน ด้วยการควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ไม่ให้เกิน 600 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งผันน้ำเข้าสู่ คลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสัก
ด้านสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 1,558 ลบ.ม./วินาที และยังคงควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ในอัตรา 1,500 ลบ.ม./วินาที
แนวโน้มระดับน้ำเริ่มทรงตัว กรมชลประทาน ยังคงเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับปริมาณน้ำเหนือที่จะไหลลงมาในระยะนี้ โดยจะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ตอนล่างให้มากที่สุดด้วย
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด และให้พิจารณาปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำไหลเข้า เพื่อควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตามศักยภาพของระบบชลประทาน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นอกจากนี้ ให้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติงาน สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันที รวมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเปิดทางให้น้ำไหลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ส่วนพื้นที่เพาะปลูกข้าว ให้เร่งดำเนินการเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายจากฤดูน้ำหลาก ตลอดจนกำชับให้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ตามที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด