Onlinenewstime.com : นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เดินหน้ายกระดับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยได้ดำเนินโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ไทย เพื่อพัฒนาปรับปรุงรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ให้โดดเด่น ทันสมัย สวยงาม เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดให้สินค้า GI โดยได้เชิญนักออกแบบมืออาชีพ มีประสบการณ์และผลงานด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ระดับแนวหน้าของประเทศ ร่วมกันสร้างสรรค์ ต่อยอด พัฒนาสินค้าชุมชน ผ่านการบรรจุภัณฑ์อันทรงคุณค่าให้แก่สินค้า GI ไทย และได้คัดเลือกผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้า GI จำนวน 10 รายการ เพื่อเข้าสู่การพลิกโฉมยกระดับบรรจุภัณฑ์
สำหรับสินค้า GI ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ได้แก่
- กล้วยเล็บมือนางชุมพร (Chumphon Lady finger Banana)
- กาแฟเมืองกระบี่ (Muang Krabi Coffee)
- ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี (Ubon Ratchathani Hom Mali Rice)
- ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ (Sisaket Volcanic Area Durian)
- นิลเมืองกาญจน์ (Muang Kan Black Spinel)
- ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี (Uthai Thani Sakae Krang River Basin Gourami Fish)
- แปจ่อเขียวแม่สอด (Pae Jor Khaew Maesod Bean)
- ผ้าหม้อห้อมแพร่ (Mor Hom Phrae Fabric)
- ส้มโอทองดีบ้านแท่น (Thong Dee Ban Thaen Pomelo)
- ส้มโอหอมควนลัง (Khuan Lang Aromatic Pomelo)
ทั้งนี้ กรมฯ ได้เชิญนักออกแบบ และผู้ประกอบการสินค้า GI มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับข้อมูลสินค้า และสอบถามความต้องการของผู้ประกอบการ เป็นการประชุม 3 ฝ่าย เพื่อหาแนวทางในการออกแบบให้บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมา ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า และผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงแล้ว
หลังจากการประชุม 3 ฝ่าย นักออกแบบได้นำข้อมูลจากการประชุมร่วมกัน ไปออกแบบบรรจุภัณฑ์และตราสินค้าให้ผู้ประกอบการ 3 แบบ เพื่อเลือกนำไปใช้จริง 1 แบบ เมื่อผู้ประกอบการเลือกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ชอบ และที่ใช่แล้ว นักออกแบบก็จะนำแบบที่ผู้ประกอบการเลือกใช้ ปรับแบบให้ตรงตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ใส่ข้อมูลให้ครบถ้วน สำหรับการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้งานจริง
โดยกรมฯ ได้ผลิตบรรจุภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการได้นำไปใช้งานจริงมีมูลค่ารายละ 30,000 บาทอีกด้วย
“มั่นใจว่าโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย จะช่วยพัฒนา ต่อยอด และยกระดับสินค้า GI ไทย ให้เกิดภาพลักษณ์ที่โดดเด่น สามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์ของสินค้า GI ไทย หลอมรวมกับบรรจุภัณฑ์ ให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวอันทรงคุณค่าของท้องถิ่นได้อย่างงดงาม
ส่งผลในการสร้างความแข็งแกร่ง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ไทย เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้กับผู้ผลิต และผู้ประกอบการ สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่สูงขึ้น และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชน และยกระดับเป็นสินค้าพรีเมี่ยมได้ตามเป้าหมาย”นายวุฒิไกรกล่าว
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) คือ ชื่อ หรือสัญลักษณ์ที่ใช้เรียกสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้น ๆ เป็นผลมาจากการผลิต ในพื้นที่ดังกล่าว GI จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า
ปัจจุบัน สินค้า GI ไทย นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมให้มีการการขึ้นทะเบียน GI และการเร่งผลักดันการพัฒนาสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในทุกมิติ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นกำลังสำคัญในการสานต่อนโยบายรัฐบาล และเป็นหน่วยงานที่เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศในการบริโภคสินค้า GI ทั้งการสร้างมาตรฐานสินค้า GI เพื่อช่วยรับประกันสินค้า GI ไทยว่าเป็นสินค้าท้องถิ่นที่มีคุณภาพ มาตรฐาน พิเศษกว่าสินค้าจากแหล่งอื่น สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น และยังทำให้ผู้บริโภค เชื่อมั่นว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและมาจากแหล่งผลิตที่แท้จริง รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้า GI ไทย เพื่อสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจในระดับฐานราก และสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ