fbpx
News update

กรมพัฒน์ฯ ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ ที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่

onlinenewstime.com : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกมาตรการช่วยเยียวยานิติบุคคลที่ ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ใน 4 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ อุบลราชธานี, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, และศรีสะเกษ โดยกำหนด 4 มาตรการบรรเทาความเดือดร้อน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมเฉียบพลัน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ อันเป็นผลสืบเนื่องมากจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนโพดุลและคาจิกิ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดในภาคอีสาน ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ อุบลราชธานี, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, และศรีสะเกษ

และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ระดมส่งความช่วยเหลือ ไปยังผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างเร่งด่วน

“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่ให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลและส่งเสริมธุรกิจ ให้มีความเข้มแข็ง จึงได้ออก 4 มาตรการบรรเทาความเดือดร้อน แก่ผู้ประสบภัย เพื่อช่วยเยียวยาธุรกิจ ในพื้นที่ 4 จังหวัดข้างต้น ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2562 ดังนี้

        1) จัดตั้งศูนย์บริการ รับจดทะเบียนให้กับนิติบุคคล ที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ณ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่ออำนวยความสะดวก ให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการยื่นขอจดทะเบียน แต่ไม่สามารถเดินทางไปยัง 4 จังหวัดที่ประสบภัยพิบัติได้

        2) ขยายระยะเวลาการยื่นจดทะเบียน และการนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น สำหรับนิติบุคคล ในพื้นที่ที่ประสบภัย และจะครบกำหนดการดำเนินการดังกล่าว ระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 31 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้ เมื่อเหตุภัยพิบัติสิ้นสุดลง นิติบุคคลสามารถยื่นหนังสือ ขอขยายเวลาต่อนายทะเบียน ในจังหวัดที่รับผิดชอบได้ ภายใน 15 วัน

        3) ขยายระยะเวลาการยื่นงบการเงิน ออกไปอีก 1 เดือนให้กับนิติบุคคล ที่ไม่สามารถยื่นได้ทัน ตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงนิติบุคคลที่มีกระบวนการจัดทำงบการเงิน อยู่ในช่วงภัยพิบัติ โดยจะต้องเป็นนิติบุคคลที่มีวันสิ้นสุดการส่งงบการเงิน ภายในวันที่ 30 ก.ย. 62, 31 ต.ค. 62, 30 พ.ย. 62, 31 ธ.ค. 62, 31 ม.ค. 63,  29 ก.พ. 63 และ 31 มี.ค. 63

        4) ผ่อนผันการแจ้งบัญชี และเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย ที่ต้องแจ้งต่อสารวัตรบัญชีออก ไปอีก 15 วัน นับตั้งแต่เหตุภัยพิบัติสิ้นสุดลง โดยสามารถยื่นล่าช้า และใช้เป็นหลักฐาน กรณีถูกเรียกตรวจบัญชีได้ ทั้งนี้ ธุรกิจสามารถแจ้งบัญชี และเอกสาร ที่ใช้ประกอบการลงบัญชีสูญหาย หรือเสียหาย ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้ทาง เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เลือกบริการออนไลน์ และงานการอนุญาต (e-Permit)

อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า  “สุดท้ายนี้กรมฯ ขอส่งความห่วงใยและกำลังใจ ไปถึงผู้ประสบภัย และนิติบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นเหตุการณ์ภัยพิบัติในครั้งนี้ ไปได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย และขอให้มั่นใจได้ว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะอยู่เคียงข้างนิติบุคคลทุกราย เพื่อส่งเสริม ให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างสะดวกสบาย และบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจได้ตลอดไป”

ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2562 การจดทะเบียนธุรกิจใน 4 จังหวัด ที่ประสบภัยพิบัติดังกล่าว พบว่า มีจำนวนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งสิ้น 11,374 ราย แบ่งเป็น อุบลราชธานี 4,896 ราย, ยโสธร 1,339 ราย, ร้อยเอ็ด 2,859 ราย และศรีสะเกษ 2,280 ราย

ทั้งนี้ นิติบุคคลส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ประกอบธุรกิจประเภท ‘การก่อสร้างอาคารทั่วไป’ มากที่สุด จำนวน 2,902 ราย หากรวมทุนจดทะเบียนเฉพาะธุรกิจประเภทนี้แล้ว มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 14,764.63 ล้านบาท