fbpx
News update

กรมอนามัย ร่วมกับเครือข่าย วางเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตและสิทธิของหญิงท้องไม่พร้อม

Onlinenewstime.com : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) จัดเสวนาและรณรงค์ชีวิตและสิทธิของหญิงท้องไม่พร้อม เนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์ เพื่อให้หญิงท้องไม่พร้อม เข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย

นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานแถลงข่าวความสำเร็จของโครงการ เพื่อสร้างเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อม ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สำนัก 2) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร

นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์เ พื่อเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย โดยมีการจัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก

เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้าใจกับสาธารณชน และผู้กำหนดนโยบาย เกี่ยวกับสภาพปัญหาและทางออก ในเรื่องการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย เพื่อคุ้มครองชีวิตของผู้หญิง ที่ยังต้องเสี่ยงอันตรายจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย

และเพื่อขจัดปัญหาที่มีผู้หญิงทั่วโลกต้องเสียชีวิตลงทุกปี จากสาเหตุการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย

ซึ่งจากข้อมูลบริการ 1663 พบว่า ปี 2561 การปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม จำนวน 27,048 คน และ ปี 2562 จำนวน 16,457 คน โดยสาเหตุความไม่พร้อมเกิดจาก 3 ด้าน คือ

1) ด้านครอบครัว เช่น ถูกทอดทิ้ง แยกทาง คู่ไม่รับผิดชอบหรือสัมพันธภาพกับคู่ไม่ดี

2) ด้านเศรษฐกิจ เช่น รายได้ไม่เพียงพอ  

3) ด้านสังคม  เช่น การตั้งครรภ์จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา หรือการทำงาน

ดังนั้น ในปี 2563 นี้ ประเทศไทย โดยโครงการพัฒนาเครือข่ายบริการที่ปลอดภัย จึงได้ร่วมกันใช้แนวทางหลัก ในการรณรงค์เดียวกันกับนานาชาติคือ “การยุติการตั้งครรภ์คือบริการสุขภาพ” (Abortion is health care)

“ทั้งนี้ เป้าหมายในการพัฒนาเครือข่ายบริการ ทั้งตั้งครรภ์ต่อ และยุติการตั้งครรภ์ให้มีความเข้มแข็ง เข้าถึงได้ ปลอดภัยและเป็นมิตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสิทธิของหญิงท้องไม่พร้อม จึงดำเนินการร่วมกันภายใต้ 4 ข้อคือ

1) พัฒนาความเข้มแข็งและเครือข่ายหน่วยบริการที่ดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ต่อ

2) ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึง ด้วยการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของเครือข่าย R-SA

3) สร้างความเข้าใจสาธารณะต่อสิทธิในทางเลือกของวัยรุ่น และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมโดยใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ การรณรงค์ และเวทีเสวนาต่างๆ

4) จัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และเพื่อให้หญิงท้องไม่พร้อมเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว