Onlinenewstime.com : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประชุมหารือร่วมกับสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) ขับเคลื่อนให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ กินธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม และวิตามินโฟลิก 2.8 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้ง หรือวิตามินโฟลิก 400 ไมโครกรัมทุกวัน ก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 12 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงทารกพิการแต่กำเนิด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผย ภายหลังการประชุมหารือ กับศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพรสวรรค์ วสันต์ ที่ปรึกษาสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย)
นายแพทย์วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ โฆษิตานนท์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ว่า กรมอนามัยและสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) ให้ความสำคัญกับการป้องกันความพิการแต่กำเนิด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายต่อระบบสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว
จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 5 (พ.ศ.2557) ช่วงหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15–45 ปี พบว่าการบริโภคอาหาร ที่มีธาตุเหล็กสูงเพียง 1 ใน 3 ตามปริมาณความต้องการของร่างกายที่ได้รับ รวมทั้งการบริโภคผัก ผลไม้ ยังไม่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย ถ้ามีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของมารดา และทารกในครรภ์ได้
“ทั้งนี้ กรมอนามัยและสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) จะสนับสนุนให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-34 ปี ที่พร้อม ตั้งใจ และวางแผนจะมีลูกทุกคน ได้รับธาตุเหล็กและวิตามินโฟลิกที่เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง และลดความเสี่ยงทารกพิการแต่กำเนิด
โดยที่ผ่านมากรมอนามัยได้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ผ่านโครงการวิวาห์สร้างชาติ ซึ่งเป็นนโยบายด้านประชากร ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต ปิตุเตชะ) เพื่อส่งเสริมให้คู่รักทุกคู่ เตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ โดยให้กินธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัม และวิตามินโฟลิก 2.8 มิลลิกรัม หรือวิตามินโฟลิก 400 ไมโครกรัมทุกวันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง สัปดาห์ละครั้งก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 12 สัปดาห์
เนื่องจากในช่วง 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาสมองและระบบประสาท เป็นช่วงเวลาที่หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ มักจะยังไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ จึงควรเสริมธาตุเหล็ก และวิตามินโฟลิกอย่างต่อเนื่อง ตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยให้คลอดอย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อทารกพิการแต่กำเนิด ช่วยให้ทุกการเกิด มีคุณภาพมีการเจริญเติบโต และพัฒนาการสมวัย ซึ่งประชาชนทุกสิทธิสามารถขอรับวิตามินเสริมธาตุเหล็ก และโฟลิก ได้ที่สถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว