Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

กรมอนามัย หวั่นฝุ่น PM2.5 ระยะยาวกระทบสุขภาพ แนะเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน

2.-Cause-of-PM2.5-1024x683

Onlinenewstime.com : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หวั่นฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 หากได้รับในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทำให้เกิดโรคทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็งได้ พร้อมย้ำลดกิจกรรมนอกบ้านและอยู่ภายในบ้านหรือในอาคารให้มากขึ้น หรือหากจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรใส่หน้ากากป้องกัน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พบว่า มากกว่า 19 จังหวัดยังมีค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) กระจายในภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยปริมาณ PM2.5 ค่าระหว่าง 43 – 78 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานการณ์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้น เช่น แสบตา แสบจมูก ระคายเคืองตา หรือภูมิแพ้กำเริบเท่านั้น แต่หากได้รับในปริมาณมากในระยะยาวจะส่งผลกระทบทำให้เกิดโรคทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็งได้ เนื่องจากเมื่อฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย นอกจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายแล้ว ยังเข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ในเซลล์ของปอด ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ในระยะยาว

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า PM2.5 ยังมีองค์ประกอบของสารเคมีบางชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น โพลิไซคลิกอโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) หรือสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency for Research on Cancer, IARC) ระบุว่ามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งสำหรับมนุษย์ได้ โดยองค์การอนามัยโลก ได้ประมาณการณ์ในปี 2559 ว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดซึ่งมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศถึง 6,330 ราย

สำหรับการเจ็บป่วย พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจากรายงานการเจ็บป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศของคลังข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2563 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยมะเร็งปอดกว่า 122,104 ราย คิดเป็น 186.26 ต่อแสนประชากร

“ทั้งนี้ จึงขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 โดยลดกิจกรรมนอกบ้านและอยู่ภายในบ้านหรือในอาคารให้มากขึ้น ควรใส่หน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น PM2.5 เมื่อต้องออกนอกอาคาร งดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงในที่ที่มีฝุ่นมาก งดสูบบุหรี่ และหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ แสบจมูก แสบคอ หายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่าย หรือไอ ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที และให้ช่วยกันลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

นอกจากนี้ ประชาชนควรหมั่นติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ ด้วยการดูค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอพพลิเคชั่น “Air4thai” ของกรมควบคุมมลพิษ หรือเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM 2.5” ของกระทรวงสาธารณสุข ก่อนออกจากบ้านอยู่เสมอ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

Exit mobile version