Onlinenewstime.com : เพจประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยถึงวิธีการแก้ไขปัญหา การตั้งด่านลอยของช้างป่าเพื่อกินพืชเกษตรกรรมบนถนนทางหลวงเส้น 3259 โดยปรับยุทธวิธี เพื่อหาจุดสมดุล!!! “หมอล็อต” พร้อมเจ้าหน้าที่ ขสป.เขาอ่างฤๅไนลงพื้นที่สร้างความเข้าใจผู้ใช้ถนน 3259
หลังจากสิ้นตำนานด้วนด่านลอย ก็มีช้างป่าอีกหลายตัวที่ผ่านการ สั่งสอน เลียนแบบ และแข่งขัน เพื่อที่จะได้กินพืชเกษตรกรรมที่ขนส่งบนถนนทางหลวงเส้น 3259 โดยเฉพาะอ้อย ที่หอมหวาน ชวนติดใจ การเรียนรู้อะไรของช้างป่าที่ผิดธรรมชาติ มักตามด้วยปัญหาใหม่ๆเสมอ ไม่ช้าก็เร็ว
ดังนั้นการคิด ทบทวนสภาพของเหตุการณ์ในอดีต สะท้อนปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้เห็นอนาคตชัดเจนการยับยั้ง สกัดกั้น สิ่งที่อาจจะบานปลาย จึงเป็นยุทธวิธีที่สำคัญ นั่นคือ “การทำความเข้าใจและให้ความร่วมมือ”
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบหมายให้นายภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่ที่มีช้างและสัตว์ป่า เพื่อจัดระบบสวัสดิภาพ
ซึ่งอาจเป็นคำที่คุ้นหู แต่มันคือเรื่องใหม่สำหรับคุณภาพชีวิตของช้างป่าในถิ่นอาศัย ซึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบางอย่างให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของช้างป่าที่เรียนรู้ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นพื้นที่หนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด
ตอนนี้มีช้างป่าหลายตัว กระจายตั้งด่านตามจุดต่างๆ บ้างก็รวมตัวกัน จับคู่สอนกัน ในการดักรื้อค้น รถขนพืชเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจและยอมให้ คิดว่าเล็กๆน้อยๆไม่เป็นไร เป็นการทำบุญเสียด้วยซ้ำ
แต่สิ่งนั้นเอง กลับทำให้ช้างป่าที่เรียนรู้โดยเงื่อนไขอยู่เสมอพฤติกรรมเสีย ตอนเย็นมื้อแรกของวัน หิวมาก พอได้ยินเสียงเครื่องยนต์และแรงสั่นสะเทือนของรถพ่วงขนาดใหญ่ ก็มาดักรอ พอรถจอดก็รื้อของออกมากิน สบายใจ ช้างตัวอื่นเห็นเพื่อนกิน ก็เอาด้วย ตัวไหนดีหน่อยก็แบ่งโซนกัน ตัวไหนขี้เกียจหน่อยก็ไปแทง ทำร้ายตัวอื่น ตัวไหนใจดี ก็สอนตัวอื่นๆให้ทำตาม
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่สี่ปีที่แล้วมี 1 ตัว เพิ่มมาเป็น 11 ตัว (ตัวหลักๆ 4 ตัว) และถ้าไม่ทำอะไรเลย โอกาสที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่ก็จะมีมากขึ้น
วีระพงศ์ โคระวัตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน พร้อมหมอล็อตจึงได้ลงพื้นที่และวางแผน ปรับยุทธวิธีในการจัดการสถานการณ์ช่วงฤดูนี้ที่มีรถขน อ้อยและมันสำปะหลัง ด้วยการให้คำแนะนำและปฎิบัติจริง (Workshop) ผู้ที่สัญจรบนถนนเส้นนี้ ทั้งขาประจำและขาจร รวมและช้างป่าด้วย
ด้วยการจัดชุดเจ้าหน้าที่สองชุดได้แก่ ชุดแรก (lecture) ประจำอยู่หน้าด่านทางเข้าทั้งสองทาง แจ้งเหตุการณ์ว่ามีช้างป่าอยู่ข้างหน้า ให้ความรู้ คำแนะนำ เกี่ยวกับการปฎิบัติ เมื่อเจอช้างป่าบนถนน (การปฎิบัติเมื่อเจอช้างป่าบนถนนของป่าแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกันเสียทั้งหมด) และที่สำคัญ ห้ามจอดรถให้อาหารช้างป่า
ชุดสอง (practical) เป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ ในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของผู้สัญจร และชิงจังหวะเพื่อไม่ส่งเสริมให้ช้างป่าเสียพฤติกรรม (ช้างดักหน้า หยุดรถ ช้างเดินมาข้างรถ หน้าโล่ง เคลื่อนรถผ่านไปช้าๆ)
สิ่งที่น่าประทับใจที่ผู้สัญจรและผู้ประกอบการให้ความร่วมมือ และปฎิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี (เปลี่ยนจากความคิดว่าทำบุญและกินเล็กๆน้อยๆไม่เป็นไร) รวมถึงยังเอื้ออาทรต่อรถขนาดเล็ก ด้วยการเป็นตัวกั้นให้ขับผ่านช้างป่าไปได้
เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลขนอ้อย มันสำปะหลัง เหตุการณ์ก็จะเบาลง เจ้าหน้าที่ก็ทำงานกันอย่างขะมักเขม้น น่าชื่นชม ทั้งหมดนี้เป็นการจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้า และใช้เหตุการณ์ในการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ที่เกิดจาก “ช้างเรียนรู้เรา เราเรียนรู้ช้าง…เรียนรู้ไปด้วยกัน”