Site icon Onlinenewstime.com – News and Knowledge to sustainability

กระทรวงคมนาคม ลงนามต่ออายุความร่วมมือไทย-เยอรมัน (JDI) ดีเดย์เปิดสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย และเปิดงานสัมมนา “รถไฟฟ้าความเร็วสูง โฉมใหม่ระบบรางของไทย”

Onlinenewstime.com : ในโอกาสการเปิดตัวสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย อย่างเป็นทางการ  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และพณฯ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย นายเกออร์ก ชมิดท์ (Georg Schmidt) ร่วมลงนามต่ออายุความตกลงว่าด้วยการแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ (Joint Declaration of Intent: JDI) ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาทางวิชาการ GTRA Workshop ครั้งที่ 6 จัดโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย ในหัวข้อ “รถไฟฟ้าความเร็วสูง: โฉมใหม่ของระบบรางของประเทศไทย” ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การลงนามต่ออายุความตกลงว่าด้วยแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ (Joint Declaration of Intent: JDI) ระหว่างสองประเทศ เป็นพลังสร้างสรรค์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคมมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านระบบรางที่เป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน กระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

นอกจากนี้ยังได้พัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดเวลาการเดินทาง และเชื่อมโยงธุรกิจและการค้า รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นหัวข้อหลักของการสัมมนาในวันนี้

โดยรถไฟความเร็วสูงนั้น ประเทศไทยอยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวน 2 เส้นทาง หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านคมนาคมในภูมิภาคต่อไป

ประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยได้วิจัยค้นคว้าและผลิตเทคโนโลยีระบบรางมาอย่างยาวนาน หลายโครงการรถไฟฟ้าก็ได้ใช้เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี มั่นใจว่าฝ่ายเยอรมนีจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทยเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับในเยอรมนี

จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่สมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงประสานความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างเยอรมัน-ไทย

หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกอบรมในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และช่างเทคนิคเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรถไฟในประเทศไทย ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต และแหล่งรวมวิทยาการระบบรางที่เป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย Thai First เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย (The German-Thai Railway Association) ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางแก่คนรุ่นใหม่ นักวิจัยและบุคคลากรเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางในประเทศไทย

โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความภูมิใจที่เราเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมจัดตั้งสมาคมฯ และร่วมช่วยผลักดันให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางราง ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยและเยอรมนี

ทั้งนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล มุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมด้านโลจิสติกส์และการขนส่งทางราง โดยเป็นหนึ่งในภารกิจหลัก

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยและประเทศเยอรมนีได้ลงนามร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ (Joint Declaration of Intent: JDI) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยองค์กรภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยและสาธารณรัฐเยอรมนี มีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่มีระบบรางที่เข้มแข็งประเทศหนึ่งของโลก มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และการบูรณาการระบบด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitization) และความก้าวหน้าเรื่องระบบไฟฟ้า ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศเยอรมนีในรูปแบบของสมาคม จะช่วยเสริมความต่อเนื่องในการพัฒนาระบบรางในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคต่อไป

รศ.ดร.วเรศรา วีระวัฒน์  รองหัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย ในการจัดงานสัมมนาหัวข้อ “รถไฟฟ้าความเร็วสูง: โฉมใหม่ของระบบรางของประเทศไทย” โดยเน้นเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการรถไฟฟ้าความเร็วสูง

ซึ่งมีวิทยากรพิเศษประกอบด้วย ศาสตราจารย์ อาร์นด สเตฟาน (Arnd Stephan) ประธานสาขารถไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดรสเดน ประเทศเยอรมนี นายเสกแมนแม๊ก (Sek Man Mak) ผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากบริษัทเอเชีย เอรา วัน และรองศาสตราจารย์ ดร.วเรศรา วีระวัฒน์ รองหัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมบรรยาย

เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรางในประเทศไทย เสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในอนาคต โดยมีผู้บริหารและบุคคลากรในภาคอุตสาหกรรมขนส่ง ระบบรางและการศึกษา ทั้งหน่วยงานรัฐ หน่วยงานกำหนดนโยบาย และประชาชนทั่วไป

พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติ ได้แก่ ศ.ดร. นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและนายกสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย และนายโทมัส มาซัว (Tomasz Mazur) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์โมบิลิตี้ และผู้บริหารจากองค์กรต่างๆเข้าร่วมการเปิดตัวสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทยอย่างเป็นทางการงานด้วย

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและภาคอุตสาหกรรม มีการลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการและช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นการลงทุนจำนวนมหาศาล เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและโครงข่ายที่มีระยะทางยาว ทำให้การบริหารจัดการโครงการให้ประสบความสำเร็จจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย

ดังนั้นการแบ่งปันความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์โดยตรง จะช่วยให้โครงการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่ความร่วมมือกันของนักวิชาการ นักวิจัย และภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาบุคลากรและการวิจัยต่างๆ รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือด้านระบบรางให้มีความมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

Exit mobile version