onlinenewstime.com : ภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 -2579 มาตรการ EE3 การใช้มาตรฐานและติดฉลากอุปกรณ์ (MEPS & HEPS)
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานประชุมชี้แจงผู้ประกอบการ ยื่นขอฉลากประหยัดพลังงาน ใน “โครงการส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยการติดฉลาก ปี 2562”
เปิดรับสมัคร พ.ค. – มิ.ย. 2562 โดยที่ผ่านโครงการฯ สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอน เกือบ 8 แสนตันต่อปี ลดการใช้ไฟฟ้าลง 1,411 ล้าน กิโลวัตต์ – ชั่วโมง ต่อปี และคาดว่า ปีนี้จะมีผลิตภัณฑ์ติดฉลากใหม่ จำนวนกว่า 19 ประเภทผลิตภัณฑ์ และมากกว่า 900 รุ่นผลิตภัณฑ์
นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า การติดฉลากประสิทธิภาพสูง นอกจากช่วยส่งเสริมให้ประชาชนใส่ใจ ในการประหยัดพลังงานแล้ว ยังสามารถกระตุ้นให้ผู้ผลิต มีการพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น
เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค และจากการดำเนินโครงการนี้ของ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ตั้งแต่ปี 2550 มาถึงปัจจุบัน แสดงในเห็นการเพิ่มขึ้น ของจำนวนฉลากประสิทธิภาพสูงอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งเป็นผลจากความต้องการของประชาชน ในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง เนื่องจากสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
ในปีงบประมาณ 2562 พพ.ได้มอบหมายให้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหิดล เป็นที่ปรึกษาโครงการ “ส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยการติดฉลาก ปี 2562” เนื่องจากคณะวิศวะมหิดล มีความรู้ความเชี่ยวชาญระดับสูง ด้านการทดสอบค่าประสิทธิภาพพลังงาน ของเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ และมีห้องปฏิบัติการมาตรฐานสากล ที่รองรับการทดสอบ เพื่อดำเนินโครงการนี้ให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.บรรยงวุฒิ จุลละโพธิ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ (พพ.) ดำเนินการติดฉลากไปแล้ว จนถึงปัจจุบันมี 19 ประเภทผลิตภัณฑ์ ได้แก่
เตาหุงต้มในครัวเรือน ใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว เตาแก๊สความดันสูง ฉนวนใยแก้ว กระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ (VSD) มอเตอร์เหนี่ยวนำสามเฟส เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก เครื่องยนต์แก๊สโซลีนขนาดเล็ก ปั๊มความร้อน เครื่องอัดอากาศ สีทาผนัง เตารังสีอินฟราเรด ชิ้นส่วนคอนกรีตมวลเบา ฟิล์มติดกระจก หลังคากระเบื้อง มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียว เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วม เครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้ม และเครื่องเชื่อมไฟฟ้า โดยจะพิจารณาติดฉลากในผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติม อย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสม และศักยภาพในการประหยัดพลังงาน
ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการได้รับฉลากจำนวน 174 ราย ในผลิตภัณฑ์ จำนวน 2,580 รุ่น ซึ่งส่งผลดี ทำให้ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 791,820 ตันต่อปี การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ลดลงได้ถึง 30ล้านกิโลกรัมต่อปี ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 16 ล้านลิตรต่อปี และลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ ประมาณ 1,411 ล้าน กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี คิดเป็นพลังงานที่ลดได้รวม 167.8 พันตันเทียบเท่า น้ำมันดิบ มูลค่าพลังงานที่ประหยัดได้รวม 5,424 ล้านบาทต่อปี”
ส่วนขั้นตอนการดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยการติดฉลาก ปี 2562” นี้ หลังจากจัดประชุมผู้ประกอบการ ชี้แจงหลักเกณฑ์ ขั้นตอนการขอรับฉลาก และการรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว
ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาโครงการ จะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ ทั้ง 19 ประเภทผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ สามารถเข้าร่วมโครงการ เพื่อขอรับฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง
กำหนดรับสมัคร สำหรับผลิตภัณฑ์รุ่นเดิม ที่เคยได้รับฉลากในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1 -27 พฤษภาคม 2562 และรับสมัครผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ที่ยังไม่เคยได้รับฉลาก ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม – 21 มิถุนายน 2562 โดยสามารถยื่นเอกสารได้โดยตรงที่ หน่วยงานโครงการที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรม ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ศาลายา โทร 02-889-2138 ต่อ 6438 และดาวน์โหลดเอกสาร ได้ที่ เวบไซต์
จากนั้นทางโครงการฯ จะทำการ ทดสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ที่ไม่มีใบรับรองผลการทดสอบ ค่าประสิทธิภาพพลังงาน และผลิตภัณฑ์รุ่นเดิม ที่เคยมีผลการทดสอบค่าประสิทธิภาพพลังงานแล้ว แต่เป็นรุ่นที่ได้รับฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงก่อนปี พ.ศ. 2560
โดยทดสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์จำนวนรวม ไม่น้อยกว่า 966 รุ่น/ตัวอย่าง ทำการวิเคราะห์ และคำนวณหาค่าประสิทธิภาพพลังงาน พร้อมจัดทำรายงานผลการทดสอบ เสนอกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสุดท้าย จะจัดงานมอบฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงแก่ผู้ประกอบการ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม เพื่อเผยแพร่ถ่ายทอดความสำเร็จ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาโครงการฯ จะทำการศึกษาและปรับปรุงแนวทางการประเมิน, พัฒนาระบบฐานข้อมูลฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง ของ พพ., ปรับเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน ในการให้ฉลากของผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งดำเนินการติดตามประเมินผลการซื้อขาย หรือการใช้งานสินค้าด้วย เพื่อให้มีการพัฒนาความก้าวหน้า ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และนวัตกรรมของโลก