fbpx
News update

กอนช. สรุปสถานการณ์น้ำ วันที่ 9 ต.ค.65 แหล่งน้ำทุกขนาด มีปริมาณ 81% ของความจุ เฝ้าระวัง 24 อ่างเก็บน้ำ สูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการ

Onlinenewstime.com : กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือกอนช. สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 9 ตุลาคม 2565 เวลา 7.00 น.

ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.สุราษฎร์ธานี (137) จ.สระแก้ว (86) จ.อุบลราชธานี (71)

ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 66,126 ล้าน ลบ.ม. (81%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 58,181 ล้าน ลบ.ม. (81%)

เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ

เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 24 แห่ง ได้แก่ แม่งัด แม่มอก กิ่วลม กิ่วคอหมา แควน้อย ทับเสลา กระเสียว ป่าสัก ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ลำนางรอง สิรินทร ขุนด่านฯ คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทรจินดา หนองหารและบึงบระเพ็ด

ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 48/2565 เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึง กอนช. แจ้งเตือนระดับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เข้าสู่สภาวะวิกฤต ระดับ 3 คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับวิกฤตหรือสูงกว่าคันดินโนนสัง ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์มีระดับน้ำสูงขึ้นและอาจกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณ อ.อุบลรัตน์ เขาสวนกวาง ซำสูง น้ำพอง และอ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น และเฝ้าระวังพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำชี ตั้งแต่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร

ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ได้คาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำชีด้านท้ายอ่างฯอุบลรัตน์ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 8 – 13 ตุลาคม 2565 ดังนี้

1. อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น อ.โกสุมพิสัย อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.10 – 0.50 เมตร

2. อ.จังหาร อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.1-0.6 เมตร

3. อ.เมืองยโสธร อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร

สำหรับ แนวทางการบริหารจัดการน้ำ กอนช. ติดตามการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยกรมชลประทาน ได้ชะลอการระบายน้ำเหนือ ด้วยการลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ตอนบนตามความเหมาะสม โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ได้ปิดการระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2565 เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน

แต่เนื่องจากยังคงมีฝนตกสะสมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง จึงทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จึงได้บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ด้วยการรับน้ำผ่านระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะเร่งผลักดันน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด

พร้อมกันนี้ ได้จัดชุดเฉพาะกิจสายก่อสร้างร่วมกับโครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคันกั้นน้ำชั่วคราวต่างๆ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ หากพบจุดที่อาจมีความเสี่ยงให้เร่งดำเนินการเข้าไปซ่อมแซมให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเสริมคันดิน พร้อมเตรียมกระสอบทราย เพิ่มความแข็งแรงของคันคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหลากเข้าพื้นที่เสี่ยง ที่สำคัญได้เร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลได้สะดวกขึ้น รวมถึงการเพิ่มจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดด้วย

ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้จัดทีมลงพื้นที่ไปติดตามและสอบถามความต้องการของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.บางบาล อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้อย่างถูกจุดและตรงกับความต้องการ