fbpx
News update

กางผลโพลจ่ายโบนัสหรือรัดเข็มขัดของแต่ละองค์กร

Onlinenewstime.com : ในเดือนแรกของปี คงไม่มีแรงงานคนไหน ไม่แอบลุ้น “โบนัส” และ “ขึ้นเงินเดือน” เพราะจะเป็นขวัญและกำลังใจ ให้มีพลังและแรงในการทำงานเพิ่มขึ้นไปอีก ล่าสุด เอ็กซ์พีริส ในเครือแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดผลสำรวจการจ่ายโบนัสประจำปี 2019 และการขึ้นเงินเดือนปี 2020

ชี้องค์กรเล็ก-ใหญ่ รับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจแบบ “รัดเข็มขัด” ด้วยความระมัดระวัง พร้อมทั้งยังคงรักษากำลังคน(แรงงาน) โดยปรับขึ้นเงินเดือน ในอัตราเฉลี่ย 3-5% เป็นมาตรฐาน และจ่ายโบนัส 1-2 เดือนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับคนทำงาน   

“เอ็กซ์พีริส” (Experis) บริษัทในเครือแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ระบุถึงผลสำรวจจ่ายโบนัสประจำปี 2019 และการขึ้นเงินเดือน ปี 2020 โดยทำการสำรวจ จากกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งมีพนักงานตั้งแต่ 250 คนขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนที่ 11%  และองค์กรขนาดกลาง ที่มีพนักงานตั้งแต่ 50-250 คน ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 64%  และองค์กรขนาดเล็กซึ่งมีพนักงานต่ำกว่า 50 คน คิดเป็นสัดส่วนที่ 25% 

โดยทำการสำรวจทั้งหมด 1,000 รายจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจให้บริการ(ที่ปรึกษา) ธุรกิจด้านการผลิต และธุรกิจการจัดจำหน่าย 

การปรับขึ้นเงินเดือน

จากผลสำรวจระบุว่า แนวโน้มการปรับขึ้นเงินเดือนขององค์กรธุรกิจ มีปัจจัยสนับสนุนโดยวัดจากประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละบุคคล ผนวกกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ จึงทำให้อัตราเฉลี่ย การปรับขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 3-5% มากที่สุดในทุกกลุ่ม  นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า กลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ มีอัตราส่วนในการปรับขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 3-5% คิดเป็นสัดส่วน 45% จากทั้งหมด  รองลงมาเป็นกลุ่มที่ปรับเงินเดือนขึ้น 5-7% คิดเป็นสัดส่วน 33% ซึ่งมีปัจจัยมาจากความต้องการสร้างความมั่นคง และดูแลรักษากำลังคนขององค์กร 

ส่วนองค์กรขนาดกลาง มีแนวโน้มจากผลสำรวจ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  แต่ที่น่าจับตามอง จะเป็นกลุ่มองค์กรขนาดเล็ก ซึ่งอัตราส่วนการปรับขึ้นเงินเดือน 10% ขึ้นไปสูงถึง 6% มากกว่าองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยระบุว่าองค์กรกลุ่มนี้จะเป็น “สตาร์ทอัพใหม่” ซึ่งอาจจะต้องสร้างแรงจูงใจ และดึงดูดพนักงาน พร้อมทั้งการรักษากำลังแรงงาน ให้ทำงานกับองค์กร ด้วยการปรับขึ้นเงินเดือนในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาด ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับด้านไอทีโซลูชั่นต่างๆ และที่ปรึกษาด้านไอที ทั้งนี้ กลุ่มองค์กรขนาดเล็ก ซึ่งมีอัตราส่วนในการปรับขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 3-5% นั้น มีมากเกินกว่าครึ่ง  

นอกจากนี้ ยังได้ทำการสำรวจ แบบแบ่งตามกลุ่มธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจให้บริการ (Service Provider) ธุรกิจด้านการผลิต และธุรกิจการจัดจำหน่าย  ระบุว่า กลุ่มธุรกิจให้บริการ มีอัตราส่วนการปรับขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 3-5%  มีสัดส่วน 47%  และอัตราส่วนปรับขึ้นเงินเดือนมากกว่า 5-7%  มีสัดส่วน 34%  ส่วนธุรกิจด้านการผลิตมีการปรับขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 3-5% คิดเป็น 50% ของกลุ่มธุรกิจนี้ แต่ที่ปรับเพิ่มมากกว่า 10% ขึ้นไปมีสัดส่วน 2% เท่านั้น  ทางด้านธุรกิจการจัดจำหน่าย  การปรับขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 3-5% มีสัดส่วนถึง 52% และปรับขึ้นเงินเดือน 5-7% มีสัดส่วน 34% (ตามกราฟประกอบ) 

การจ่ายโบนัส

สำหรับผลสำรวจ เรื่องการจ่ายโบนัสประจำปีระบุว่า มีแนวโน้มการจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 เดือนมีสัดส่วนมากที่สุดทุกกลุ่มองค์กร  โดยการจ่ายโบนัส 1 เดือนมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 42% รองลงมา 2 เดือน อยู่ที่ 34% และ 3-5 เดือนอยู่ที่ 13% ตามลำดับ  นอกจากนี้ องค์กรขนาดใหญ่ ที่มีการจ่ายโบนัสสูงถึง 5 เดือนขึ้นไป จะเป็นกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมรถยนต์และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต  (ตามกราฟประกอบ) 

เมื่อทำการสำรวจ แบบเจาะไปที่กลุ่มธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจให้บริการ แนวโน้มการจ่ายโบนัสเฉลี่ย 1เดือนและ 2 เดือนมีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ 41% กับ 40% ส่วนธุรกิจด้านการผลิต มีการจ่ายโบนัส 1 เดือน คิดเป็นสัดส่วน 30% และมีการจ่ายโบนัส 2 เดือน สัดส่วน 39% และมีการจ่ายโบนัส 3-5 เดือนคิดเป็นสัดส่วน 19% ของกลุ่มธุรกิจนี้  ทางด้านธุรกิจการจัดจำหน่าย อัตราส่วนการจ่ายโบนัส 1 เดือน มีสัดส่วน 46% และจ่ายโบนัส 2 เดือน มีสัดส่วน 37% ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการจ่ายโบนัสประจำปี ขององค์กรต่างๆ จะอิงตามผลประกอบการรวมขององค์กรเป็นหลัก  

โดยภาพรวม ผลการสำรวจการปรับเงินเดือนปี 2020 และจ่ายโบนัสประจำปี 2019 ยังมีแนวโน้มและสัดส่วน ไม่แตกต่างจาก 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยและผลพวงมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลให้หลายองค์กรมีการปรับตัว และพยุงตัว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า “กลุ่มแรงงาน” ยังคงมองเรื่องความมั่นคงและศักยภาพขององค์กรตลอดมา  ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพ และทักษะความสามารถของตนเองอยู่เสมอตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะรอบด้าน และทักษะด้านเทคโนโลยี จะเป็นสิ่งสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อม ให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดงาน  อีกทั้งยังต้องมีการปรับตัวยืดหยุ่นกับทุกสถานการณ์ ท่ามกลางโลกแห่งยุคทรานส์ฟอร์เมชั่นอีกด้วย  หากผู้ประกอบการและแรงงานปรับตัวได้ทัน ประเทศไทย 4.0 ก็จะพัฒนาสู่ความสำเร็จไปด้วยกัน