นักดาราศาสตร์ไทย ชี้การค้นพบดาวเคราะห์หินที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกถึง 7 ดวง
เป็นเรื่องดีของวงการดาราศาสตร์โลก
ในการค้นพบระบบสุริยะขนาดเล็กที่อยู่ไม่ไกลจากโลก เพื่อหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก
นายมติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ กล่าวถึงการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) ว่า เป็นดาวเคราะห์หินที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกถึง 7 ดวง โคจรอยู่ในระบบดาวฤกษ์ดวงเดียว แล้วโคจรรอบดาวแคระแดงแทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1)
ซึ่งห่างจากโลก 39 ปีแสง อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ และเป็นดาวเคราะห์ 3 ดวง
ในดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนี้ อยู่ในช่วงที่เรียกว่า “habitable zone” หรือ โซนที่เอื้อต่อการมีชีวิต โดยระยะห่างที่เหมาะสม จากดาวฤกษ์ที่พอจะมีน้ำ อยู่ในสถานะของเหลวไม่ใกล้จนเกินไป จนรังสีจากดาวฤกษ์แผดเผา และระเหยน้ำในมหาสมุทรออกไปหมด แต่ยังไม่ไกลเกินไป จนดาวเคราะห์กลายเป็นดาวน้ำแข็งที่ไร้สิ่งมีชีวิต
ปัจจุบันมีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ยืนยันแล้ว 3,449 ดวง และรอการยืนยันอีกกว่า 4,696 ดวง โดยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่ค้นพบส่วนมากเป็นประเภทดาวยักษ์แก๊ส ที่เป็นดาวเคราะห์หินใกล้เคียงกับโลกมากกว่า 348 ดวง
จากการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มเชื่อว่า สิ่งมีชีวิตอาจจะไม่ใช่สิ่งที่หายากและมีเพียงแค่บนโลกเท่านั้น
สำหรับดาวฤกษ์ในระบบแทรพพิสต์-วัน (TRAPPIST-1) เป็นดาวประเภทดาวแคระแดง ซึ่งเป็นดาวฤกษ์มวลน้อย มีอุณหภูมิพื้นผิวที่ต่ำมาก และมีความสว่างน้อย หากสามารถเดินทางได้เร็วเท่ากับแสงยังต้องใช้เวลาถึง 39 ปี และหากจะเดินทางไประบบดาวเคราะห์นี้ด้วยความเร็วของเครื่องบินเจ็ทต้องใช้เวลากว่า 4 ล้านปี
ขณะที่ นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีขนาดคล้ายโลกพร้อมกันถึง 7 ดวง ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะยังมีอะไรให้ค้นพบและศึกษาอีกมาก
ในอนาคตการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศขึ้นไป เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อินฟาเรด ที่นาซาวางแผนส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2561 ในการสังเกตการณ์วัตถุอันห่างไกล ในเอกภพสามารถศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์เหล่านี้ได้อาจจะเกิดจากสิ่งมีชีวิต ถือเป็นโอกาสดีที่นักดาราศาสตร์จะได้ค้นพบระบบสุริยะขนาดเล็กที่อยู่ไม่ไกลจากโลก และทำให้เข้าใจเรื่องราวต่างๆในเอกภพได้ดียิ่งขึ้น
เครดิต : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์